ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

31 มีนาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนกุมภาพันธ์ 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน 
  • การบริโภคขยายตัวต่อเนื่อง ผลดีจากตลาดแรงงานและการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ราคาสินค้าเกษตรที่หดตัวและค่าครองชีพสูงยังคงกดดันกำลังซื้อ
  • ด้านมูลค่าส่งออกหดตัวน้อยลง สอดคล้องกับการผลิตอุตสาหกรรมที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตามการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ผลผลิตปาล์มยังมีมาก
  • อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์

รายได้เกษตรกร หดตัวใกล้เคียงเดิม

จากด้านราคาที่ยังคงหดตัวโดยเฉพาะยางพาราและกุ้งขาวจากความต้องการจากต่างประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับผลผลิตขยายตัวชะลอลงโดยเฉพาะปาล์มน้ำมันจากการที่เกษตรกรเร่งตัดปาล์มไปในเดือนก่อน

 

ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง

จากน้ำมันปาล์มดิบเป็นสำคัญ ตามผลผลิตที่ยังมีมาก สำหรับยางพาราแปรรูปขยายตัวจากยางผสม ส่วนหนึ่งจากคำสั่งซื้อที่ชะลอส่งมอบจากปีก่อน ด้านอาหารทะเล แช่เย็นแช่แข็งหดตัวน้อยลงจากการส่งออกกุ้งไปจีนที่เพิ่มขึ้นหลังเปิดประเทศ ขณะที่ไม้ยางและผลิตภัณฑ์ขยายตัวชะลอลงบ้าง จากไฟเบอร์บอร์ด

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน

จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ โดยสัญชาติหลักที่เดินทางเข้ามายังคงเป็นกลุ่มรัสเซีย ยุโรป และมาเลเซีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยตนเอง (F.I.T)

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่อง

จากหมวดยานยนต์เป็นสำคัญ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว สำหรับการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคชะลอลงเล็กน้อย จากมาตรการเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่หมดลง และยังมีปัจจัยกดดันจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงและค่าครองชีพสูง อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวยังคงหนุนการใช้จ่ายในพื้นที่ท่องเที่ยว

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวมากขึ้น

ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งจากการเร่งนำเข้าเครื่องจักรการผลิตยางพาราในปีก่อน สำหรับยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์หดตัวในทุกประเภท จากฐานสูงปีก่อนที่ปัญหาขาดแคลนรถยนต์ส่งมอบคลี่คลาย ขณะที่รถรับจ้างโดยสารฟื้นตัวดี

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวน้อยลง

มูลค่านำเข้ากลับมาขยายตัวเล็กน้อย ตามการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างและแผงวงจร (IC) ที่เร่งตัว ขณะเดียวกันมูลค่าส่งออกหดตัวน้อยลง ตามการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบไปตลาดอินเดียที่เร่งตัว รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางที่กลับมาขยายตัว โดยเฉพาะยางผสม

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามหมวดพลังงานและอาหารสดที่ปรับลดลง ผลจากฐานสูงปีก่อน

 

ตลาดแรงงาน อยู่ในทิศทางการฟื้นตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในพื้นที่ท่องเที่ยว สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในภาคการค้า ร้านอาหารและโรงแรมที่ยังมีต่อเนื่อง

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 มีนาคม 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th