ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

29 มีนาคม 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนกุมภาพันธ์ 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนกุมภาพันธ์ 2567 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน 
  • โดยการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่องในพื้นที่หลัก ส่งผลดีต่อรายได้แรงงานสาขาบริการ เป็นแรงส่งให้การอุปโภคบริโภคขยายตัว
  • อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อครัวเรือนยังถูกกดดันจากผลผลิตเกษตรที่ลดลง สะท้อนจากการใช้จ่ายในพื้นที่เกษตรที่หดตัว
  • สำหรับการผลิตอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นบ้างตามคำสั่งซื้อของคู่ค้าที่ทยอยดีขึ้น

รายได้เกษตรกร ขยายตัว

จากรายได้ยางพารา ตามราคาที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากผลผลิตที่ลดลง ผลกระทบจากการระบาดของโรคใบร่วงในยางพารา รวมถึงปริมาณฝนสะสมที่น้อยในปีก่อน ซึ่งกระทบผลผลิตปาล์นน้ำมันเช่นเดียวกัน ทำให้รายได้จากปาล์มน้ำมันหดตัวในเดือนนี้

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว

ตามคำสั่งซื้อคู่ค้าที่เห็นสัญญาณดีขึ้น ทั้งยางพาราแปรรูปจากสต็อกที่เริ่มลดลง อาหารทะเลกระป๋องเพิ่มขึ้นในสินค้าทูน่าและซาร์ดีน ด้านไม้ยางพาราขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน ส่วนอาหารทะเลแช่เย็นฯ และถุงมือยางชะลอลงเล็กน้อย

 

ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัว

ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก โดยเฉพาะสัญชาติจีนผลดีจากเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นตามเทศกาลตรุษจีน รวมถึงมาเลเซียที่ขยายตัวต่อเนื่องส่วนหนึ่งจากผลของช่วงปิดภาคเรียน สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวยังขยายตัว สะท้อนจากยอดค้นหาที่พักที่ยังมีต่อเนื่อง

 

การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว

อานิสงส์จากการท่องเที่ยวและปัจจัยหนุนช่วงเทศกาลตรุษจีน รวมถึงมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ช่วยให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและหมวดบริการในพื้นที่ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม กำลังซื้อครัวเรือนเกษตรถูกกดดันจากผลผลิตเกษตรที่ลดลง สะท้อนจากการใช้จ่ายในพื้นที่เกษตรที่หดตัว

 

การลงทุนภาคเอกชน ทรงตัว

โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัว สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรในภาคการผลิตอุตสาหกรรมและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัว ขณะที่การลงทุนก่อสร้างขยายตัวเล็กน้อย ตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงแรมที่ขยายตัวในพื้นที่ท่องเที่ยว

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัว

การส่งออก หดตัวจากผลิตภัณฑ์ยางหมวดยางผสม สินค้าคอมพิวเตอร์ รวมถึงไม้ไฟเบอร์บอร์ดที่ได้รับผลกระทบจากการขนส่ง

การนำเข้า หดตัวจากเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและมาตรวัดเป็นหลัก ด้านการนำเข้าปลา โดยเฉพาะทูน่าเพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตอาหารกระป๋องเพิ่มขึ้น

 

อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น ตามราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น

ตามแรงส่งภาคท่องเที่ยว ทำให้การจ้างงานซึ่งสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จ.ภูเก็ต สอดคล้องกับความต้องการแรงงานในภาคการค้า โรงแรม ร้านอาหาร ยังมีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในสาขาอื่น ทั้งภาคการผลิตและก่อสร้างยังคงทรงตัว

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
29 มีนาคม 2567

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th