ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

28 กุมภาพันธ์ 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนมกราคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ ขยายตัวจากเดือนก่อน 
  • ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อการจ้างงาน และการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ
  • อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่หดตัวและค่าครองชีพที่สูงยังคงกดดันกำลังซื้อ
  • ด้านภาคการผลิตกลับมาขยายตัวจากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบตามผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้น

รายได้เกษตรกร หดตัวมากขึ้น

จากด้านราคาที่หดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะราคาปาล์มน้ำมัน ประกอบกับราคายางและกุ้งขาวยังคงหดตัวใกล้เคียงเดิมจากอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังคงชะลอลง ขณะที่ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้นจากปาล์มน้ำมันและยางพารา ตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น

 

ภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว

ตามการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ขยายตัวดีจากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่เพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตเพื่อส่งออก อาทิ ไม้ยางพารา กลับมาขยายตัวตามความต้องการเพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์ของคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับอาหารทะเลกระป๋องที่ความต้องการอาหารสัตว์เลี้ยงยังขยายตัว อย่างไรก็ตาม การผลิตยางพาราแปรรูป โดยเฉพาะยางแท่ง ยังคงหดตัว

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง

จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ผลจากการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างประเทศ อาทิ รัสเซีย ยุโรป และดูไบ ทำให้นักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรปเพิ่มขึ้น ขณะที่นักท่องเที่ยวอินเดียลดลง ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการการตรวจ RT-PCR ก่อนกลับเข้าประเทศ

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวมากขึ้น

จากหมวดยานยนต์ตามการปรับดีขึ้นของรายได้แรงงานภาคบริการ ประกอบกับได้อานิสงส์จากมาตรการช้อปดีมีคืนและการเพิ่มเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ทำให้การใช้จ่ายสินค้ากึ่งคงทนกลับมาขยายตัว เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันจากราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงและค่าครองชีพสูง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวสะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถกระบะและรถบรรทุกขนาดใหญ่ และการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศที่หดตัว นอกจากนี้ การนำเข้าเครื่องจักรในการผลิตยางแปรรูปยังคงหดตัว ขณะที่การลงทุนก่อสร้างขยายตัวเล็กน้อย 

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวน้อยลง

มูลค่านำเข้าหดตัวน้อยลง ตามการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การนำเข้าปลายังคงลดลง ด้านมูลค่าส่งออกหดตัวน้อยลง ตามการส่งออกไปมาเลเซียและจีน ในสินค้าพาร์ติเคิลบอร์ด เช่นเดียวกับการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่ขยายตัวมากขึ้น ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ และยุโรป ยังคงหดตัว

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามหมวดอาหารสดและพลังงานที่ปรับลดลง

 

ตลาดแรงงาน อยู่ในเกณฑ์ดีใกล้เคียงเดือนก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว สะท้อนจากจำนวนผู้มีงานทำในภาคการค้าและบริการที่ปรับดีขึ้นบ้าง แต่ผู้มีงานทำในภาคเกษตรลดลง ด้านรายได้แรงงานปรับดีขึ้นเล็กน้อย 

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 กุมภาพันธ์ 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th