ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

31 สิงหาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนกรกฎาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนกรกฎาคม 2566 ขยายตัวจากเดือนก่อน
  • ตามการอุปโภคบริโภค จากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และรายได้เกษตรกรหดตัวน้อยลง
  • สำหรับการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวใกล้เคียงเดือนก่อน ตามการผลิตยางพาราแปรรูป และน้ำมันปาล์มดิบ ผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอ 

รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลง

จากทั้งด้านผลผลิต ตามผลผลิตทุเรียนที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากพื้นที่ให้ผลมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำปีก่อนที่มีฝนตกมากช่วงต้นปี 65 ทำให้ดอกทุเรียนร่วงไปมาก ขณะที่ด้านราคาหดตัวน้อยลงจากปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ ตามผลผลิต ประกอบกับผลของฐานสูงปีก่อนหมดไปที่อินโดนีเซียยกเลิกมาตรการระงับการส่งออก

 

ภาคอุตสาหกรรม ยังคงหดตัว

เนื่องจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าหลักที่ลดลงโดยเฉพาะจีน ทำให้การผลิตยางพาราแปรรูป และอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งหดตัว ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบหดตัวตามวัตถุดิบที่ลดลง ขณะที่อาหารทะเลกระป๋องปรับดีขึ้น รวมถึงไม้ยางและผลิตภัณฑ์ขยายตัวตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น และถุงมือยางขยายตัว ผลดีจากสต๊อกประเทศคู่ค้าที่ทยอยลดลงบ้าง

 

การท่องเที่ยว ขยายตัว

จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นในหลายสัญชาติ อาทิ มาเลเซีย จีน รัสเซีย และตะวันออกกลาง ตามเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น สำหรับนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งจากวันหยุดยาวช่วงปลายเดือน

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัว

จากหมวดยานยนต์ที่กลับมาขยายตัว โดยเฉพาะจักรยานยนต์ ตามความต้องการใช้งานทุกพื้นที่ ขณะที่รถยนต์นั่งขยายตัวต่อเนื่อง ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวต่อเนื่องตามรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว เช่นเดียวกับหมวดบริการอานิสงส์จากวันหยุดยาวช่วงปลายเดือน

 

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเล็กน้อย

จากทั้งการลงทุนหมวดก่อสร้างและหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ปรับดีขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่อนุญาตก่อสร้าง ประเภทที่อยู่อาศัยและโรงแรม ขณะที่การนำเข้าเครื่องจักรหดตัวน้อยลง ตามการนำเข้าเครื่องจักรผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปและน้ำมันปาล์ม

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ยังคงหดตัว

การส่งออกหดตัวน้อยลง โดยการส่งออกถุงมือยางและไม้ยางและผลิตภัณฑ์ขยายตัว ขณะที่การการส่งออกยางพาราแปรรูปยังคงหดตัว การนำเข้าหดตัวต่อเนื่องตามการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลางจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าทุนจากเครื่องจักรและอุปกรณ์

 

อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญ

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33 ที่ใกล้เคียงเดือนก่อน สอดคล้องกับจำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ (มาตรา 40) และผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงานที่ทรงตัว

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 สิงหาคม 2566

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th