ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

30 สิงหาคม 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนกรกฎาคม 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนกรกฎาคม 2567 ขยายตัวจากเดือนก่อน 
  • ตามการอุปโภคบริโภค ปัจจัยสนับสนุนจากรายได้แรงงานภาคบริการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการท่องเที่ยว รวมถึงรายได้เกษตรกรปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง จากปัญหาหนี้ครัวเรือน
  • ด้านการผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวตามคำสั่งซื้อของคู่ค้าที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

รายได้เกษตรกร ขยายตัว

จากรายได้สินค้าเกษตรหลักโดยเฉพาะทุเรียนและกุ้งที่กลับมาขยายตัวจากราคา เนื่องจากผลผลิตหดตัวต่อเนื่อง ผลของภาวะแล้งในช่วงก่อนหน้า ขณะที่รายได้ยางพาราและปาล์มน้ำมันยังขยายตัวได้ ตามราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี 

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว

โดยการผลิตเกือบทุกอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น ตามคำสั่งซื้อของคู่ค้าหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้น ทั้งยางแท่ง ถุงมือยาง อาหารทะเลแช่เย็นฯ และกระป๋อง ผลดีจากการบริโภคในประเทศที่ดีขึ้น ขณะที่ความต้องการของจีนยังคงชะลอตามเศรษฐกิจจีน

 

ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัว

ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะชาวมาเลเซียที่มีวันหยุดยาวในประเทศ และชาวจีนตามการปิดภาคเรียนฤดูร้อน ทั้งนี้ เริ่มเห็นกรุ๊ปทัวร์จีนเข้ามามากขึ้น ด้านนักท่องเที่ยวไทยลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน

 

การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว

โดยการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคปรับดีขึ้น ผลดีจากรายได้แรงงานภาคบริการที่ยังดีและรายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้น ขณะเดียวกันการใช้จ่ายยานยนต์กลับมาขยายตัว โดยเฉพาะรถยนต์ประเภท EV อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลปัญหาหนี้ครัวเรือน สะท้อนกำลังซื้อที่ยังเปราะบาง

 

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว

จากทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้างที่ดีขึ้น สะท้อนจากมูลค่านำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิตน้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันยอดจำหน่ายปูนซิเมนต์เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากงบประมาณภาครัฐที่ทยอยเบิกจ่ายได้มากขึ้น

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัว

การส่งออกขยายตัว ขยายตัวตามอุปสงค์คู่ค้าทั้งจีน อินเดีย และ สหรัฐฯ ในสินค้ายางพารา แปรรูป ไม้ยางแปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และน้ำมันปาล์มดิบ เช่นเดียวกับการส่งออกคอมพิวเตอร์ไปมาเลเซีย

การนำเข้าขยายตัว ขยายตัวจากสินค้าปลาเพื่อบริโภค รวมถึงชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ วงจรไฟฟ้า และเครื่องจักร ตามการลงทุนที่ดีขึ้นากสินค้าขั้นกลางประเภทคอมพิวเตอร์ และวงจรไฟฟ้า รวมถึงสินค้าทุนประเภทมาตรวัด

 

อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น จากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ราคาอาหารสำเร็จรูปรวมถึงราคาหมวดอาหารสดปรับเพิ่มขึ้น 

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง

สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่เพิ่มขึ้น จากการจ้างงานภาครัฐหลัง พ.ร.บ.งบประมาณได้รับการอนุมัติ และการจ้างงานในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักที่เพิ่มต่อเนื่อง ประกอบกับการจ้างงานภาคผลิตบางอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นโดยเฉพาะใน จ.สงขลา อย่างไรก็ตาม ยังเห็นการฟื้นตัวที่แตกต่างกันระหว่างพื้นที่ และธุรกิจส่วนใหญ่ยังเน้นการจ้างงานแบบรายวัน

 

ประเด็นที่ต้องติดตาม

• การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ

• การเข้ามาของกรุ๊ปทัวร์จีน

• ผลกระทบของสภาพอากาศต่อผลผลิตเกษตร

• ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อการส่งออกและเงินเฟ้อ

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 สิงหาคม 2567

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th