ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

31 กรกฎาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนมิถุนายน 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนมิถุนายน 2566 ชะลอลงจากเดือนก่อน
  • จากการอุปโภคบริโภคที่แผ่วลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัว
  • เช่นเดียวกับการผลิตและส่งออก เนื่องจากความต้องการของคู่ค้าหลักชะลอตัว ส่งผลให้การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการผลิต  หดตัว อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวทรงตัวจากเดือนก่อน

รายได้เกษตรกร ยังคงหดตัว

จากราคาที่หดตัวต่อเนื่อง โดยราคายางพาราและกุ้งขาวหดตัวตามความต้องการของคู่ค้าที่ลดลง ด้านผลผลิตขยายตัวมากขึ้น จากผลผลิตทุเรียนเป็นสำคัญ เนื่องจากปริมาณฝนน้อยและทิ้งช่วงนานตั้งแต่ต้นปี 66 ทำให้ทุเรียนออกดอกเร็วขึ้น

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง

ตามความต้องการคู่ค้าหลักที่ชะลอลงโดยเฉพาะจีน และยุโรป ส่งผลให้การผลิตยางพาราแปรรูป ถุงมือยาง และอาหารกระป๋องหดตัว นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันปาล์มดิบหดตัวตามวัตถุดิบที่ลดลง ขณะที่ไม้ยางพาราและอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งขยายตัวตามความต้องการซื้อจากจีน เป็นสำคัญ

 

การท่องเที่ยว ทรงตัว

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติใกล้เคียงเดือนก่อน จากกลุ่มรัสเซีย อินเดีย และจีนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มาเลเซียลดลงบ้าง สำหรับนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งจากการจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ที่มากขึ้น

 

การอุปโภคบริโภค ชะลอลง

จากหมวดยานยนต์โดยเฉพาะรถกระบะที่หดตัวต่อเนื่อง ผลจากกำลังซื้อเกษตรกรที่ลดลง ขณะที่รถยนต์นั่งและจักรยานยนต์ชะลอลง ด้านหมวดบริการชะลอลงเล็กน้อยตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยที่ลดลง เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทนชะลอลงตามกำลังซื้อภาคเกษตรโดยรวมที่ยังเปราะบาง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

จากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ลดลง สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถบรรทุกส่วนบุคคล หดตัวในเกือบทุกจังหวัด ขณะที่มูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้น จากเครื่องจักรผลิตภัณฑ์อาหาร ด้านการลงทุนก่อสร้างชะลอลงเล็กน้อย จากยอดจำหน่ายปูนซิเมนต์ที่หดตัว

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวต่อเนื่อง

การส่งออกหดตัวต่อเนื่องตามการส่งออกไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และจีน จากความต้องการสินค้ายางพารา แปรรูป อาหารทะเลกระป๋อง และถุงมือยางที่ลดลง ขณะเดียวกันการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องตามการนำเข้าทุกหมวดสำคัญ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าทุน

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง จากหมวดพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ

 

ตลาดแรงงาน ฟื้นตัวใกล้เคียงเดือนก่อน สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่ใกล้เคียงเดือนก่อน โดยการจ้างงานในภาคบริการพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวปรับดีขึ้น ขณะที่ภาคการผลิตและก่อสร้างลดลง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 กรกฎาคม 2566

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th