ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

31 มีนาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนมีนาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนมีนาคม 2566 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อน
  • จากการบริโภคที่เร่งในช่วงก่อนตามการส่งมอบรถยนต์และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐที่หมดลง 
  • นอกจากนี้ กำลังซื้อของประเทศคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความไม่แน่นอน ส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรม การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ และมูลค่าส่งออกสินค้าหดตัว 
  • อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวยังเป็นแรงส่งสำคัญทางเศรษฐกิจ

รายได้เกษตรกร หดตัวมากขึ้น

จากด้านราคาที่หดตัวต่อเนื่องในทุกสินค้าสำคัญ  โดยราคายางพาราและกุ้งขาวหดตัวจากอุปสงค์ คู่ค้าที่ชะลอลง ขณะที่ด้านผลผลิตชะลอลงจากปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ ตามการเร่งเก็บเกี่ยวไปในเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ผลผลิตยางพาราและกุ้งขาวปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน จากปริมาณน้ำฝนที่น้อยลง

 

ภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว

จากอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งที่หดตัวตามกำลังซื้อของประเทศคู่ค้าที่ลดลงโดยเฉพาะญี่ปุ่น สำหรับการผลิตยางพาราแปรรูปลดลงจากน้ำยางข้น สอดคล้องกับความต้องการถุงมือยางที่หดตัว รวมถึงยางแท่งและยางแผ่นรมควันหดตัวตามอุปสงค์ของประเทศคู่ค้าหลักที่ลดลง ทั้งสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น อย่างไรก็ดี การผลิตไม้ยางและผลิตภัณฑ์ขยายตัวต่อเนื่อง จากตลาดจีนที่กลับมาดีขึ้นหลังเปิดประเทศ

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง

จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ยังมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวมาเลเซีย ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ยังมีจำนวนน้อย ด้านนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ผลดีจากมาตรการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวชะลอลง

จากหมวดยานยนต์ที่ชะลอตัว หลังเร่งส่งมอบไปช่วงก่อน เช่นเดียวกับสินค้ากึ่งคงทนที่ชะลอลง หลังหมดมาตรการช้อปดีมีคืน สำหรับการใช้จ่ายหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ชะลอลง ส่วนหนึ่งจากกำลังซื้อภาคเกษตรกรที่ลดลง อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น อานิสงส์จากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยเฉพาะการนำเข้าเครื่องจักรการผลิตยางพาราที่ยังคงหดตัว เช่นเดียวกับยอดจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่หดตัว ส่วนการลงทุนภาคก่อสร้างกลับมาขยายตัว ตามพื้นที่อนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยและอุตสาหกรรม อาทิ โรงไฟฟ้า ที่เพิ่มขึ้น

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัว

การนำเข้ากลับมาหดตัว ตามการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และวัสดุก่อสร้าง ขณะที่การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับยางพารา และประมง โดยเฉพาะปลา รวมถึงการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบชะลอลงจากเดือนก่อน

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามหมวดพลังงานและอาหารสดที่ปรับลดลง ส่วนหนึ่งจากฐานสูงปีก่อน

 

ตลาดแรงงาน ฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง สะท้อนจากตัวเลขการจ้างงาน ( ม.33 ) และรายได้แรงงานที่เพิ่มขึ้น ตามความต้องการแรงงานในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ยังคงมีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคการค้า ร้านอาหารและโรงแรม

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 เมษายน 2566

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th