ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

30 เมษายน 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนมีนาคม 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนมีนาคม 2567 ชะลอจากเดือนก่อน ตามภาคบริการที่ชะลอ หลังหมดเทศกาล รวมถึงปัจจัยกระตุ้นการใช้จ่ายที่หมดลง
  • ส่งผลให้การอุปโภคบริโภคลดลง ประกอบกับกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรยังคงเปราะบาง 
  • ด้านการลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อย สอดคล้องกับการผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัว จากอุปสงค์คู่ค้าที่ฟื้นตัวช้า 
  • สำหรับการลงทุนก่อสร้างชะลอลงส่วนหนึ่งจากการที่เร่งไปก่อนหน้า

รายได้เกษตรกร ขยายตัว

จากรายได้ยางพารา ตามราคายางที่ขยายตัวเนื่องจากผลผลิตที่ออกน้อยกว่าปกติต่อเนื่อง ตามสภาพอากาศที่ร้อนจัด และฝนสะสมที่น้อยตั้งแต่ปีก่อน ขณะที่รายได้ปาล์มน้ำมันทรงตัว และรายได้กุ้งชะลอตัวลง

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว

จากคำสั่งซื้อของจีนที่ชะลอในยางพาราแปรรูปในช่วงราคายางสูง โดยเฉพาะยางผสมและน้ำยางข้น รวมถึงไม้ยางพาราแปรรูปไปจีนลดลงหลังเร่งตัวมาอย่างต่อเนื่อง ด้านการผลิตไฟเบอร์บอร์ดยังหดตัว ขณะที่อาหารทะเลแปรรูปทั้งแช่เย็นและกระป๋องขยายตัวเล็กน้อยตามอุปสงค์คู่ค้า และสินค้าคงคลังที่เริ่มลดลง 

 

ภาคบริการท่องเที่ยว หดตัวเล็กน้อย

ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงโดยเฉพาะจีนและมาเลเซีย หลังเร่งไปในเดือนก่อนที่มีเทศกาลตรุษจีน ประกอบกับเป็นช่วงถือศีลอด ด้านนักท่องเที่ยวไทยขยายตัวตามการจัดกิจกรรมในพื้นที่ สำหรับแนวโน้มการท่องเที่ยวคาดว่าขยายตัว จากอานิสงส์วันหยุดในเทศกาลสงกรานต์

 

การบริโภคภาคเอกชน หดตัว

หลังหมดปัจจัยหนุน ทั้งมาตรการภาครัฐ รวมถึงช่วงเทศกาล  ทำให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงในเกือบทุกหมวด ยกเว้น หมวดแอลกอฮอล์ ขณะที่หมวดสินค้าคงทนยังคงหดตัว โดยลดลงทุกประเภทรถยนต์ สอดคล้องกับความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวเล็กน้อย

โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรในภาคการผลิตอุตสาหกรรมและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่หดตัว ขณะที่การลงทุนก่อสร้างยังคงขยายตัว ตามการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและโรงแรมที่ขยายตัวในพื้นที่ท่องเที่ยว

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร การส่งออกหดตัว

การส่งออกหดตัว จากการส่งออกไปจีนที่ลดลงเป็นหลัก ในสินค้าอาหารทะเลและไม้ยางพาราแปรรูป ขณะที่ราคายางที่สูงทำให้มูลค่าส่งออกยางพาราแปรรูปเพิ่มขึ้น

การนำเข้าขยายตัว จากอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และวัตถุดิบปลาทั้งทูน่าและซาร์ดีนเพื่อผลิตปลากระป๋องที่เพิ่มขึ้น

 

อัตราเงินเฟ้อ ติดลบน้อยลง จากราคาหมวดอาหารสด และราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น 

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีใกล้เคียงเดือนก่อน

ตามการท่องเที่ยวฟื้นตัว ส่งผลให้การจ้างงานเพิ่มขึ้น โดยจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ปรับดีขึ้น ในพื้นที่ อันดามัน สุมย และสงขลา ซึ่งภาคธุรกิจยังคงเน้นการจ้างงานแบบรายวัน สอดคล้องกับความต้องการแรงงานภาคการค้า โรงแรม ร้านอาหาร ที่ยังมีต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหาขาดแคลนแรงงานในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 เมษายน 2567

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th