ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

30 มิถุนายน 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนพฤษภาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนพฤษภาคม 2566 ยังขยายตัวได้
  • โดยมีแรงส่งจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวสนับสนุนให้การอุปโภคบริโภคยังขยายตัวต่อเนื่อง

  • อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่หดตัวจากด้านราคา ยังคงกดดันการใช้จ่าย เช่นเดียวกับการผลิตและส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก

 

รายได้เกษตรกร หดตัวใกล้เคียงเดือนก่อน

จากราคาที่หดตัวต่อเนื่องในทุกสินค้า ยกเว้นผลไม้ โดยราคายางพาราและกุ้งขาวหดตัว จากความต้องการของคู่ค้าที่ลดลง ขณะที่ผลผลิตขยายตัวมากขึ้นจากกุ้งขาวเป็นสำคัญ ตามปริมาณการลงลูกกุ้งที่มากในช่วงต้นปี

 

ภาคอุตสาหกรรม ยังคงหดตัว

ตามการผลิตเกือบทุกหมวดหลัก ทั้งยางพาราแปรรูป น้ำมันปาล์มดิบ อาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็ง ถุงมือยาง และอาหารกระป๋อง จากผลของเศรษฐกิจคู่ค้า G3 ที่ชะลอตัว ขณะที่ไม้ยางพาราแปรรูปและผลิตภัณฑ์ขยายตัวต่อเนื่องจากการผลิตเพื่อส่งออกไปตลาดจีนและมาเลเซีย หลังจากที่หดตัวมากในปีก่อน

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง

โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียที่เดินทางเข้ามาต่อเนื่อง สำหรับนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากอานิสงส์วันหยุดยาวในเดือนพฤษภาคม

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่อง

จากหมวดยานยนต์ที่กลับมาขยายตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว เช่นเดียวกับหมวดบริการที่ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อนตามการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยช่วงหยุดยาว ด้านสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทน ยังขยายตัวได้ ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และส่วนหนึ่งได้อานิสงส์จากเโครงการประกันรายได้ยางพารา

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวน้อยลง

ตามการลงทุนหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัวน้อยลง สะท้อนจากมูลค่าการนำเข้าที่ปรับดีขึ้นในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และการผลิตไม้ และยอดจดทะเบียนรถรับจ้างโดยสารที่ขยายตัว นอกจากนี้ การลงทุนก่อสร้างเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามพื้นที่อนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะแนวสูง 

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัว

มูลค่าการส่งออก หดตัวต่อเนื่องตามยางพารา ผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว ด้านผลิตภัณฑ์ไม้หดตัว จากราคาส่งออกที่ลดลงตามราคาวัตถุดิบ มูลค่าการนำเข้า หดตัวน้อยลงตามเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องจักรฯ ที่ขยายตัว ขณะที่การนำเข้าวัตถุดิบปลาหดตัวน้อยลง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคานำเข้าสูงขึ้น

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง จากหมวดพลังงานและอาหารสดเป็นสำคัญ

 

ตลาดแรงงาน ขยายตัวเล็กน้อย จากการจ้างงานผู้ประกันตน ม.33 ที่ปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยวหลัก 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 มิถุนายน 2566

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th