ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

28 มิถุนายน 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนพฤษภาคม 2567

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนพฤษภาคม 2567 ทรงตัวจากเดือนก่อน 
  • โดยการอุปโภคบริโภคแผ่วลง ส่วนหนึ่งจากปัจจัยเทศกาลที่หมดลง ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคเปราะบางลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังมีอยู่ ขณะเดียวกันการลงทุนภาคเอกชนยังคงหดตัว 
  • ขณะที่การฟื้นตัวของท่องเที่ยวทำให้การจ้างงานและรายได้แรงงานเพิ่มขึ้นในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก การส่งออกขยายตัวสอดคล้องกับการผลิต

รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอ

จากรายได้ยางพารา ตามราคาที่ชะลอลงบ้างเนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับรายได้ปาล์มน้ำมันปรับดีขึ้น ตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น จากการเร่งตัดผลปาล์ม เนื่องจากราคาที่ลดลงต่อเนื่องและภาวะปาล์มสุกแดด ขณะที่รายได้กุ้งหดตัวต่อเนื่อง 

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว

จากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามวัตถุดิบ และการผลิตไม้ไฟเบอร์บอร์ดเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม การผลิตยางพาราแปรรูปทรงตัว ขณะที่อาหารทะเลแปรรูปแช่เย็นฯ หดตัว ตามอุปสงค์จีนและสหรัฐฯ ที่ชะลอ รวมถึงอาหารทะเลกระป๋องหดตัวจากที่เร่งไปก่อนหน้า และได้รับผลกระทบจากการขนส่ง

 

ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัว

ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะมาเลเซีย ผลดีจากวันหยุดยาวของมาเลเซียและการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวในพื้นที่ ขณะที่นักท่องเที่ยวยุโรป รัสเซีย และออสเตรเลียเพิ่มขึ้นเช่นกัน ด้านนักท่องเที่ยวไทยปรับลดลงเล็กน้อยหลังหมดปัจจัยพิเศษหยุดยาวในเดือนก่อน

 

การบริโภคภาคเอกชน หดตัว

ตามการใช้จ่ายสินค้าคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะหมวดอาหารและของใช้ในชีวิตประจำวันที่ลดลง เนื่องจากปัจจัยกดดันกำลังซื้อ ทั้งปัญหาหนี้ครัวเรือน รายได้จากการท่องเที่ยวยังกระจุกตัวในบางพื้นที่ และเม็ดเงินจากรายได้เกษตรกรยังจำกัด ทำให้การบริโภคในระยะถัดไปอาจขยายตัวได้ไม่ดีนัก 

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวเล็กน้อย

โดยการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ยังคงหดตัว สะท้อนจากยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์และมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่หดตัว ด้านการลงทุนก่อสร้างทรงตัว โดยยอดจำหน่ายปูนซิเมนต์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ตามการก่อสร้างภาครัฐที่เริ่มมีมากขึ้น ขณะที่การก่อสร้างที่อยู่อาศัยชะลอ

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร การส่งออกขยายตัว

การส่งออกขยายตัว ตามอุปสงค์ยางแท่งจากจีนที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันการส่งออกน้ำมันพืชเร่งตัว ตามการผลิตที่เพิ่มขึ้น

การนำเข้าหดตัว จากสินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งอาหารทะเลและเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รวมถึงเครื่องจักร และวัตถุดิบปลาเพื่อการแปรรูป

 

อัตราเงินเฟ้อ กลับมาเป็นบวก ตามราคาอาหารสดและพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้น

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน

สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากการจ้างงานของภาครัฐหลังอนุมัติงบประมาณเบิกจ่าย และการจ้างงานในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักเพิ่มต่อเนื่อง ประกอบกับการจ้างงานภาคผลิตบางอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของตลาดแรงงานยังแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และธุรกิจส่วนใหญ่ยังเน้นการจ้างงานแบบรายวัน 

 

ประเด็นที่ต้องติดตาม

  • การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
  • ผลกระทบของอากาศร้อนแล้งและ La Nina ต่อผลผลิตเกษตร
  • ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อการส่งออกและเงินเฟ้อ

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 มิถุนายน 2567

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th