ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

28 ธันวาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนพฤศจิกายน 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนพฤศจิกายน 2566 ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน
  • ตามการอุปโภคบริโภคที่ยังขยายตัวใกล้เคียงเดิม อานิสงส์จากการท่องเที่ยวที่ขยายตัว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น
  • ขณะเดียวกัน การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง ด้านการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงตามอุปสงค์คู่ค้าและวัตถุดิบที่ปรับดีขึ้น

รายได้เกษตรกร ยังคงหดตัว

จากด้านผลผลิต โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมัน จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย รวมถึงปริมาณน้ำฝนสะสมต่ำ สำหรับผลผลิตทุเรียนกลับมาหดตัวจากผลของฐานสูง ซึ่งมีการทำทุเรียนนอกฤดูมากช่วงปลายปีก่อน อย่างไรก็ดี ด้านราคาขยายตัวจากราคายางพาราเป็นสำคัญ ตามผลผลิตที่ลดลง 

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลง

ตามความต้องการของประเทศคู่ค้า ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมผลิตสินค้ารองรับเทศกาลปลายปี ส่งผลให้การผลิตอาหารทะเลแปรรูปทั้งแช่เย็นฯ และกระป๋อง กลับมาขยายตัว ประกอบกับวัตถุดิบทูน่าเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตยางพาราแปรรูปหดตัวน้อยลงจากน้ำยางข้นและยางแท่ง ด้านการผลิตไม้แปรรูปและถุงมือยางขยายตัวชะลอลง จากคำสั่งซื้อที่เร่งไปในช่วงก่อนหน้า

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะมาเลเซียรัสเซีย และยุโรป จากการเข้าสู่ช่วง High-season และจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ด้านนักท่องเที่ยวไทยใกล้เคียงเดือนก่อนตามการจัดกิจกรรมในพื้นที่

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน

อานิสงส์จากภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัว ส่งผลให้สินค้าอุปโภคบริโภคยังขยายตัวดี โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยว เช่นเดียวกับหมวดเชื้อเพลิงและไฟฟ้า ส่วนหนึ่งจากมาตรการลดค่าครองชีพ อย่างไรก็ตาม สินค้ากึ่งคงทน และบริการขยายตัวชะลอลง หลังเร่งไปในเดือนก่อน ด้านหมวดยานยนต์หดตัวจากกระบะเป็นสำคัญ

 

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามการลงทุนก่อสร้างที่อยู่อาศัย และโรงแรม นอกจากนี้ การลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับดีขึ้น ตามมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรสำหรับผลิตไม้ ขณะเดียวกันมูลค่าการจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศดีขึ้นจากกลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร กลับมาหดตัว

การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกยางผสมที่ หดตัวต่อเนื่อง ด้านไม้ยาง ถุงมือยาง อุปกรณ์สื่อสาร และเครื่องจักรชะลอตัว การนำเข้าชะลอตัว จากสินค้าทุนประเภทมาตรวัดที่ชะลอ และวัตถุดิบขั้นกลางประเภทวงจรไฟฟ้าหดตัว ขณะที่การนำเข้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และเครื่องจักรขยายตัวต่อเนื่อง

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง จากหมวดพลังงานเป็นสำคัญตามมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพภาครัฐและราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลง

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน สะท้อนจากตัวเลขผู้ประกันตน ม.33 ที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวเช่นเดียวกับจำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ ม.40 ที่เพิ่มขึ้น ด้านผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงาน ม.38 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 ธันวาคม 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th