ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

30 พฤศจิกายน 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนตุลาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนตุลาคม 2566 ปรับดีขึ้นจากเดือนก่อน
  • ตามการอุปโภคบริโภค จากกำลังซื้อที่ยังดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในจังหวัดที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและทุเรียน
  • นอกจากนี้ การส่งออกและการผลิตอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลงตามอุปสงค์คู่ค้าที่เพิ่มขึ้น

รายได้เกษตรกร หดตัวมากขึ้น

จากด้านผลผลิต โดยเฉพาะผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ส่งผลให้ราคาปรับเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผลผลิตทุเรียนที่ยังคงขยายตัว และราคาอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้รายได้เกษตรกรทุเรียนขยายตัว 

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวน้อยลง

ตามความต้องการของประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ และมาเลเซีย ส่วนหนึ่งเพื่อเตรียมผลิตสินค้าช่วงปลายปี โดยการผลิตยางพาราแปรรูปหดตัวน้อยลงจากยางแท่ง ยางผสม และน้ำยางข้น เช่นเดียวกับการผลิตอาหารทะเลที่หดตัวน้อยลง ทั้งอาหารทะเลแช่เย็นฯ และอาหารทะเลกระป๋อง สำหรับการผลิตไม้แปรรูปและถุงมือยางขยายตัวต่อเนื่อง

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวชะลอลง

ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะมาเลเซียหลังเร่งไปช่วงก่อน อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวยุโรปเพิ่มขึ้น ตามจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศ ด้านนักท่องเที่ยวไทยขยายตัวต่อเนื่อง ผลดีจากวันหยุดยาวเดือนตุลาคม

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวมากขึ้น

ตามการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้ากึ่งคงทน รวมถึงหมวดบริการ ผลดีจากกำลังซื้อที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะจังหวัดที่พึ่งพาท่องเที่ยวและจังหวัดที่ปลูกทุเรียน นอกจากนี้ การใช้จ่ายหมวดเชื้อเพลิงและไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งจากอานิสงส์มาตรการลดค่าครองชีพ

 

การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวมากขึ้น

ตามการลงทุนก่อสร้างที่ขยายตัวมากขึ้น สะท้อนจากพื้นที่อนุญาตก่อสร้างประเภทโรงแรม และที่อยู่อาศัยแนวสูง ขณะเดียวกันการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวน้อยลง ตามมูลค่านำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิตโลหะขั้นมูลฐานและการผลิตไม้ สอดคล้องกับภาคการผลิตที่เพิ่มขึ้น

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ปรับดีขึ้น

การส่งออกหดตัวน้อยลง ตามการส่งออกยางแท่ง ยางผสม และน้ำยางข้น รวมถึงอาหารทะเลกระป๋องที่ปรับดีขึ้น ขณะที่ไม้แปรรูปขยายตัวต่อเนื่อง การนำเข้ากลับมาขยายตัว จากสินค้าทุนประเภทมาตรวัด และวัตถุดิบขั้นกลางประเภทคอมพิวเตอร์ ขณะเดียวกันอาหารทะเลเพื่อการบริโภคหดตัวน้อยลง

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง จากหมวดพลังงานและอาหารสด ผลจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ รวมถึงตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัวจากเดือนก่อน สะท้อนจากตัวเลขผู้ประกันตน ม.33 ที่ทรงตัวในหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับจำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ ม.40 และผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงาน ม.38 ที่ใกล้เคียงเดือนก่อน อย่างไรก็ดี การจ้างงานในภาคบริการท่องเที่ยวยังมีต่อเนื่อง

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 พฤศจิกายน 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th