ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้
31 มีนาคม 2566
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 1 ปี 2566
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
รายได้เกษตรกร หดตัวมากขึ้น
จากด้านราคาที่หดตัวเป็นสำคัญ โดยราคายางพาราและกุ้งขาวหดตัวจากอุปสงค์คู่ค้าที่ชะลอลง ส่วนราคาปาล์มน้ำมันดิบหดตัว จากฐานสูงปีก่อน ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย ประกอบกับผลผลิตล้นลานเทช่วงต้นไตรมาส สำหรับผลผลิตขยายตัวชะลอลงจากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ชะลอลงบ้างหลังเร่งตัวไปในไตรมาสก่อน ส่วนผลผลิตกุ้งขาวหดตัว เนื่องจากฝนตกชุก ทำให้อัตราการรอดของกุ้งต่ำ
ภาคอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว
จากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบที่ยังขยายตัว ขณะเดียวกันการผลิตยางพาราแปรรูปปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากยางผสม ส่วนหนึ่งจากการผลิตตามคำสั่งซื้อที่เลื่อนส่งมอบจากปีก่อน สำหรับการผลิตไม้ยางและผลิตภัณฑ์ขยายตัวในทุกสินค้า อย่างไรก็ตาม การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋องหดตัวต่อเนื่อง ผลจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง
การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง
จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ ผลดีจากเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยขยายตัวเกือบทุกกลุ่มสัญชาติหลัก ทั้งมาเลเซีย รัสเซีย และยุโรป ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนเริ่มเดินทางเข้ามามากขึ้น หลังจีนมีการเปิดประเทศเมื่อ ม.ค. 66
การอุปโภคบริโภค ยังขยายตัวได้
ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ ทั้งมาตรการช้อปดีมีคืนที่หนุนการใช้จ่ายหมวดสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ที่สนับสนุนการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันกำลังซื้อผู้บริโภคจากรายได้เกษตรกรที่ลดลงและค่าครองชีพสูง
การลงทุนภาคเอกชน หดตัวมากขึ้น
ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ลดลง สะท้อนจากมูลค่านำเข้าเครื่องจักรในภาคการผลิตที่หดตัว รวมถึงยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาหดตัว ส่วนหนึ่งจากกำลังซื้อภาคเกษตรที่ลดลง อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคก่อสร้างยังขยายตัวได้ โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัย
การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวน้อยลง
การนำเข้าหดตัวน้อยลง จากการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า แผงวงจร ที่หดตัวน้อยลง ขณะที่วัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวมากขึ้น เช่นเดียวกับมูลค่าส่งออกหดตัวน้อยลง จากการส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่เร่งตัว รวมถึงการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางและไม้ยางหดตัวน้อยลง ตามปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้น
อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามหมวดพลังงานและอาหารสดที่ปรับลดลง ผลจากฐานสูงปีก่อน
ตลาดแรงงาน ทยอยฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง สะท้อนจากผู้มีงานทำและรายได้แรงงานที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม การจ้างงานภาคผลิตลดลง
ธนาคารแห่งประเทศไทย
3 พฤษภาคม 2566
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th