ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

03 สิงหาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2566 ยังอยู่ในทิศทางฟื้นตัว
  • จากภาคท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลดีต่อตลาดแรงงานและการบริโภคภาคเอกชน
  • อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยกดดันกำลังซื้อจากรายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัว ขณะที่การผลิตและส่งออกหดตัวตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง ส่งผลให้การลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ภาคเอกชนลดลง

     

รายได้เกษตรกร ยังคงหดตัว

จากด้านราคา โดยเฉพาะยางพาราและกุ้งขาวที่หดตัวมากขึ้น ตามความต้องการของคู่ค้าที่ชะลอลง ขณะเดียวกันด้านผลผลิตชะลอลง จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่ลดลงเป็นสำคัญ เนื่องจากปริมาณฝนน้อยและทิ้งช่วงนานช่วงต้นปี ทำให้น้ำหนักทะลายปาล์มลดลง

 

ภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว

ตามความต้องการคู่ค้าหลักที่ชะลอลง ทำให้การผลิตยางพาราแปรรูป รวมถึงถุงมือยางลดลง ประกอบกับสต็อกถุงมือยางอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ การผลิตอาหารทะเลกระป๋องยังคงหดตัว ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบอยู่ในระดับสูง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนทูน่า สำหรับการผลิตน้ำมันปาล์มดิบหดตัวตามวัตถุดิบที่ลดลง

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง

จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยขยายตัวในกลุ่มสัญชาติหลัก ทั้งมาเลเซีย รัสเซีย และยุโรป เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น แม้จะยังมีสัดส่วนน้อย สำหรับนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน ผลดีจากโครงการเราเที่ยวด้วยกันเฟส 5 ช่วงต้นไตรมาส และการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่

 

การอุปโภคบริโภค ยังขยายตัวได้

ตามการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้ากึ่งคงทน และบริการ ผลดีจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานภาคบริการ ทำให้กำลังซื้อปรับดีขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัว แม้จะมีโครงการประกันรายได้ยางพารา ส่งผลให้การใช้จ่ายหมวดยานยนต์ โดยเฉพาะรถกระบะลดลง

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัวต่อเนื่อง

จากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตยางเป็นสำคัญ ขณะที่การลงทุนก่อสร้างขยายตัวมากขึ้น สะท้อนจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งแนวราบและแนวสูงที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวต่อเนื่อง

การส่งออกหดตัวมากขึ้น จากการส่งออกไปมาเลเซียและจีน ในกลุ่มสินค้ายางแท่งและยางผสม อาหารทะเลกระป๋อง และถุงมือยาง ขณะเดียวกันการนำเข้าหดตัวต่อเนื่องจากการนำเข้าสินค้าทุน และวัตถุดิบขั้นกลางอาทิ มาตรวัดชั่งตวง อุปกรณ์คอมพิวเตอร์

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง ตามหมวดพลังงาน อาหารสด และเงินเฟ้อพื้นฐาน

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้น สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดพื้นที่ท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ตามการฟื้นตัวของภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
3 สิงหาคม 2566

 

รับชมการแถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ ไตรมาสที่ 2 ปี 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th