ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

31 ตุลาคม 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนกันยายน 2566

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนกันยายน 2566 ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน
  • ตามการอุปโภคบริโภค ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงส่งภาคท่องเที่ยวที่ชะลอ อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้น ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายได้บางส่วน
  • ด้านการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเล็กน้อย ตามการลงทุนก่อสร้างที่มีต่อเนื่อง สำหรับการผลิตอุตสาหกรรมยังคงหดตัว ส่วนหนึ่งจากอุปสงค์ประเทศคู่ค้าชะลอ

รายได้เกษตรกร หดตัวน้อยลง

จากด้านราคาเป็นสำคัญ โดยเฉพาะราคายางพาราที่หดตัวน้อยลง ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อยเนื่องจากฝนตกชุก เช่นเดียวกับราคาปาล์มน้ำมันที่หดตัวน้อยลง ผลของฐานสูงปีก่อนเริ่มหมดไป อย่างไรก็ดี ด้านผลผลิตขยายตัวชะลอ จากผลผลิตกุ้งที่ลดลง เนื่องจากราคาไม่จูงใจให้เกษตรกรลงลูกกุ้ง

 

ภาคอุตสาหกรรม หดตัวต่อเนื่อง

ตามการผลิตยางพาราแปรรูปที่หดตัวต่อเนื่อง ตามความต้องการยางแท่งและยางผสมไปตลาดจีนและสหรัฐฯ รวมถึงน้ำยางข้นไปมาเลเซียลดลง ด้านการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นฯ กลับมาหดตัวในทุกสินค้าหลัก โดยเฉพาะกุ้งไปตลาดจีนและญี่ปุ่น ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอ ขณะที่ไม้ยางพาราและถุงมือยางยังคงขยายตัว

 

การท่องเที่ยว ขยายตัวชะลอลง

จากการชะลอตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย หลังเร่งไปมากในเดือนก่อนที่มีวันหยุดยาวช่วงปิดภาคเรียน สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยใกล้เคียงเดือนก่อน

 

การอุปโภคบริโภค ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน

ตามแรงส่งภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอลง ประกอบกับบางส่วนได้เร่งไปช่วงก่อน ทำให้การอุปโภคบริโภคหมวดสินค้าในชีวิตประจำวันและสินค้ากึ่งคงทนชะลอ ขณะที่หมวดบริการขยายตัวใกล้เคียงเดิม ทั้งนี้ รายได้เกษตรกรที่หดตัวน้อยลง ช่วยสนับสนุนการใช้จ่ายได้บางส่วน

 

การลงทุนภาคเอกชน กลับมาขยายตัว

ตามการลงทุนก่อสร้าง สะท้อนจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างประเภทบริการ โดยเฉพาะโรงแรมที่ขยายตัว ด้านการลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์หดตัวน้อยลง ตามมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักร โดยเฉพาะสำหรับก่อสร้างอาคาร และเครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันที่ปรับดีขึ้น

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร หดตัวต่อเนื่อง

การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ตามการส่งออกยางพาราและอาหารทะเลแปรรูป ไปตลาดจีนและมาเลเซียที่หดตัว การนำเข้าหดตัวใกล้เคียงเดือนก่อน ตามการนำเข้าสินค้าทุนที่หดตัว ขณะที่สินค้าวัตถุดิบขั้นกลางหมวดอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอุปโภคบริโภคหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าหดตัวน้อยลง

 

อัตราเงินเฟ้อ ลดลง จากหมวดพลังงานตามมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพภาครัฐ

และอาหารสด ตามผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากขึ้น

 

ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อน สะท้อนจากตัวเลขผู้ประกันตน ม.33 ที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ท่องเที่ยว และผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงาน (ม.38) ลดลง ขณะที่จำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระ ม.40 ใกล้เคียงเดือนก่อน

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 ตุลาคม 2566

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th