ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้
31 ตุลาคม 2567
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนกันยายน 2567
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง
จากรายได้ยางพาราขยายตัวตามราคาที่ยังอยู่ในระดับสูง ด้านรายได้กุ้งขยายตัวจากผลผลิตตามการลงลูกกุ้งทิ่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม รายได้ปาล์มน้ำมันและทุเรียนลดลงตามผลผลิต เนื่องจากผลกระทบภาวะแล้งช่วงต้นปี
การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว
จากการผลิตน้ำมันปาล์มดิบหดตัวตามวัตถุดิบที่ลดลง การผลิตยางพาราแปรรูปหดตัว ส่วนหนึ่งจากคำสั่งซื้อจีนชะลอ โดยบางส่วนซื้อยางจากเวียดนามซึ่งมีราคาต่ำกว่า ด้านไม้แปรรูปทรงตัว อีกทั้งอาหารทะเลกระป๋องหดตัวตามคำสั่งซื้อของสหรัฐฯ ที่ลดลง
ภาคบริการท่องเที่ยว ขยายตัว
ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหลังขจัดฤดูกาลที่เพิ่มขึ้นในเกือบทุกสัญชาติ โดยเฉพาะชาวมาเลเซียที่เพิ่มขึ้นตามวันหยุดยาวและการปิดภาคเรียนในประเทศ อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวไทยลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน
การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว
ตามการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้ากึ่งคงทน ผลดีจากการท่องเที่ยวที่ดีต่อเนื่อง และรายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายสินค้าคงทนยังคงหดตัวจากยานยนต์ทุกประเภท
การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเล็กน้อย
ตามการลงทุนด้านก่อสร้าง สะท้อนจากพื้นที่อนุญาตก่อสร้างและยอดจำหน่ายปูนซิเมนต์ที่เพิ่มขึ้น ส่วนการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ขยายตัวเล็กน้อย โดยยอดจดทะเบียนยานยนต์เชิงพาณิชย์ปรับดีขึ้นบ้างตามอุปสงค์ในพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก ส่วนการนำเข้าสินค้าทุนลดลง หลังเร่งไปแล้วในช่วงก่อนหน้า
การค้าผ่านด่านศุลกากร การส่งออกหดตัว
การส่งออกหดตัว จากสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรมหมวดน้ำมันพืช ไม้แปรรูป และคอมพิวเตอร์ จากคำสั่งซื้อจีนที่ลดลงเป็นหลัก
การนำเข้าขยายตัว จากสินค้าหมวดคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ไฟฟ้า รวมถึงสินค้าทุนหมวดเครื่องจักรฯ
อัตราเงินเฟ้อ ทรงตัว จากราคาอาหารสำเร็จรูป และค่าไฟที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาอาหารสดลดลง
ตลาดแรงงาน ปรับดีขึ้นเล็กน้อย
สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่เพิ่มขึ้น ในพื้นที่ท่องเที่ยว อาทิ จ.ภูเก็ต สมุย และ จ.กระบี่ เพื่อรองรับการเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว ประกอบกับการจ้างงานภาคผลิตปรับดีขึ้นใน จ.สงขลา สอดคล้องกับการผลิตอุตสาหกรรมอาหารและถุงมือยางที่ขยายตัว อย่างไรก็ตาม การจ้างงานในพื้นที่อื่น ๆ ชะลอลง
ประเด็นที่ต้องติดตาม
• มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
• ผลกระทบของสภาพอากาศต่อผลผลิตเกษตร
• ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ต่อการส่งออกและเงินเฟ้อ
ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 ตุลาคม 2567
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th