ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้
30 มิถุนายน 2568
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนพฤษภาคม 2568
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
รายได้เกษตรกร หดตัวต่อเนื่อง
จากรายได้ยางพาราที่หดตัวเป็นสำคัญ โดยผลผลิตชะลอลงจากเดือนก่อน เนื่องจากฝนตกชุก ทำให้จำนวนวันกรีดลดลง อย่างไรก็ดี รายได้ปาล์มน้ำมัน และกุ้ง ขยายตัวใกล้เคียงเดือนก่อน โดยผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดมากต่อเนื่อง
การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว
ตามการผลิตน้ำมันปาล์มดิบซึ่งมีวัตถุดิบมากกว่าปกติ ด้านการผลิตถุงมือยาง อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารทะเลแช่เย็นฯ และกระป๋อง ขยายตัวตามการผลิตเพื่อเร่งส่งออกไปสหรัฐฯ ในช่วงระยะผ่อนผันการขึ้นภาษีนำเข้า อย่างไรก็ตาม การผลิตยางพาราแปรรูปหดตัวตามวัตถุดิบที่ลดลง
ภาคบริการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง
ตามจำนวนนักท่องเที่ยวระยะไกล (Long haul) อาทิ ยุโรป รัสเซีย และออสเตรเลีย หลังเร่งไปมากในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ส่งผลให้รายได้รวมนักท่องเที่ยวลดลง อย่างไรก็ดี นักท่องเที่ยวระยะสั้น (Short haul) บางสัญชาติเพิ่มขึ้น อาทิ มาเลเซีย เนื่องจากมีวันหยุดแรงงานและช่วงปิดภาคเรียน
การบริโภคภาคเอกชน หดตัวเล็กน้อย
ตามการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มสินค้าในชีวิตประจำวันที่หดตัว จากการระมัดระวังการใช้จ่าย และกำลังซื้อที่แผ่วลง จากทั้งรายได้เกษตรกรและรายได้ภาคบริการที่ลดลง ประกอบกับสินค้าหมวดยานยนต์กลับมาหดตัว หลังหมดปัจจัยเร่งส่งมอบในเดือนก่อน
การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวเล็กน้อย
ตามการลงทุนด้านก่อสร้าง ทั้งประเภทที่อยู่อาศัยและไม่ใช่ที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการก่อสร้างในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักยังมีต่อเนื่อง ขณะที่ด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ทรงตัว โดยการนำเข้าสินค้าทุนในอุตสาหกรรมการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายเครื่องจักรในประเทศลดลง
การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัว
มูลค่าการส่งออก ขยายตัว จากน้ำมันปาล์มดิบไปอินเดีย และยางผสมไปจีน อีกทั้งมีการเร่งส่งออกถุงมือยาง อาหารสัตว์เลี้ยง ทูน่ากระป๋อง และกุ้งแปรรูป ไปยังตลาดสหรัฐฯ
มูลค่าการนำเข้า ขยายตัว ตามสินค้าขั้นกลางประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้า และสินค้าปลาเพื่อบริโภค
อัตราเงินเฟ้อ ลดลง จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตามราคาน้ำมันดิบโลกผลกระทบจากนโยบายการค้าโลก รวมถึงราคาอาหารสดลดลงตามผลผลิตออกสู่ตลาดมากขึ้น
ตลาดแรงงาน ทรงตัวจากเดือนก่อน
สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่ใกล้เคียงเดือนก่อนในหลายพื้นที่ โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่มีการจ้างงานเพิ่ม แต่มีการเพิ่มชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาชั่วคราวบ้างตามการผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้านจำนวนผู้ขอรับสิทธิประโยชน์ว่างงาน (ม.38) ลดลงเล็กน้อย
ประเด็นที่ต้องติดตาม
• แนวโน้มราคาปาล์มจากผลผลิตปาล์มล้นตลาด
• นโยบายการค้าระหว่างประเทศของคู่ค้า
• ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ต่อราคาพลังงาน
• ผลของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศและความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะข้างหน้า
ธนาคารแห่งประเทศไทย
30 มิถุนายน 2568
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th