ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้

28 กุมภาพันธ์ 2568

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ เดือนมกราคม 2568

xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคใต้ เดือนมกราคม 2568 ขยายตัวจากเดือนก่อน
  • ตามการบริโภคภาคเอกชน โดยยังมีแรงส่งต่อเนื่องจากรายได้ภาคบริการและรายได้ภาคเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ส่งผลดีไปยังการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค 
  • ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวหลังหมดผลการเร่งผลิตเพื่อส่งออกก่อนช่วงเทศกาลปลายปีและตรุษจีน สำหรับการลงทุนภาคเอกชนทรงตัวจากเดือนก่อน

รายได้เกษตรกร ขยายตัวชะลอลง

จากราคายางพาราที่ลดลง เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้น ตามสภาพอากาศที่ปรับดีขึ้น นอกจากนี้ ผลผลิตปาล์มน้ำมันยังออกสู่ตลาดน้อย ผลกระทบจากอากาศร้อนแล้งช่วงก่อนหน้า รวมถึงผลผลิตทุเรียนนอกฤดูกาลลดลงหลังเร่งออกไปแล้วในช่วงก่อน

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว

หลังหมดผลการเร่งผลิตเพื่อส่งออกในเดือนก่อน ทำให้การผลิตอาหารทะเลแช่เย็นฯ และยางพาราแปรรูปหดตัว ทั้งนี้ การผลิตและส่งออกยางผสมไปจีนยังขยายตัวดี ส่วนหนึ่งจากการสั่งซื้อเพื่อเติมสต็อก นอกจากนี้ การผลิตน้ำมันปาล์มดิบยังอยู่ในระดับต่ำตามผลผลิตเข้าโรงงานที่ลดลง

 

ภาคบริการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น

จากนักท่องเที่ยวมาเลเซีย จีน และยุโรป ผลดีจากช่วงเทศกาลตรุษจีน และวันหยุดปิดภาคเรียนในมาเลเซีย รวมถึงเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว สอดคล้องกับรายได้รวมจากนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้น

 

การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว

รายได้ภาคบริการและรายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดี รวมถึงการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น ผลดีจากช่วงเทศกาล ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดขนมขบเคี้ยว เครื่องดื่มทั้งมีและไม่มีแอลกอฮอล์

 

การลงทุนภาคเอกชน ทรงตัว

การลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เพื่อรักษาประสิทธิภาพการผลิตโดยเฉพาะธุรกิจผลิตยาง ส่วนยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ลดลง ขณะที่ด้านก่อสร้างทรงตัว โดยการขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ลดลง

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร การส่งออกหดตัว

มูลค่าการส่งออก หดตัวตามการส่งออกชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ไม้และผลิตภัณฑ์ รวมถึงอาหารทะเลแช่เย็นฯ ขณะที่การส่งออกยางพาราชะลอจากด้านราคา 

มูลค่าการนำเข้า ขยายตัวตามการนำเข้าสินค้าขั้นกลางประเภท IC วัตถุดิบปลาสำหรับทำปลากระป๋อง รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภค​

 

อัตราเงินเฟ้อ เพิ่มขึ้น จากราคาอาหารสด ตามผลผลิตที่ยังไม่กลับสู่ปกติ รวมถึงราคาเครื่องปรุงอาหารและค่าเช่าเพิ่มขึ้น ตามการปรับราคาของผู้ผลิต

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัวจากเดือนก่อน 

สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ที่ใกล้เคียงเดือนก่อน ตามแรงส่งภาคการท่องเที่ยว ขณะที่ในพื้นที่อื่นปรับลดลง และมีรูปแบบการจ้างงานในลักษณะ Part-time มากขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงเห็นการจ้างงานและรายได้แรงงานภาคการผลิตที่ปรับลดลง

 

ประเด็นที่ต้องติดตาม

• ข้อกำหนดการนำเข้าทุเรียนของจีนต่อการส่งออกของไทย

• ผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐต่อการบริโภคภาคเอกชน

• นโยบายการค้าระหว่างประเทศของคู่ค้า

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 กุมภาพันธ์ 2568

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890 
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th