ช่วงเวลาในการเปิดรับฟังความคิดเห็น
29 กันยายน - 17 ตุลาคม 2566
วัตถุประสงค์/หลักการ/เหตุผล
เพื่อให้การนำกลไก RBP มาใช้สำหรับธุรกรรมสินเชื่อรายย่อยมีการประเมินประสิทธิผลและความเสี่ยงอย่างรอบคอบและรอบด้าน ธปท. จึงเปิดให้มีการทดสอบกลไก RBP ใน Sandbox โดยมีหลักการและสรุปประเด็นสำคัญดังนี้
หลักการ
(1) ผู้ประกอบธุรกิจที่เข้าร่วมทดสอบต้องมีคุณสมบัติตามที่ ธปท. กำหนด มีความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และมีการ
ให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม
(2) ผู้ประกอบธุรกิจสามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขสินเชื่อบนพื้นฐานข้อมูลที่สะท้อนความเสี่ยงของผู้กู้ภายใต้ระบบการประเมินความเสี่ยง (แบบจำลองความเสี่ยงด้านเครดิต) ที่น่าเชื่อถือและมีประสิทธิภาพ
(3) ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาวินัยทางการเงิน โดยผู้ประกอบธุรกิจมีกลไกสนับสนุน
ที่เหมาะสม เช่น การเปิดเผยข้อมูลปัจจัยสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาระดับความเสี่ยงที่มีผลต่อการกำหนดอัตราดอกเบี้ย แนวทางการปรับพฤติกรรมทางการเงิน เพื่อให้ได้รับข้อเสนออัตราดอกเบี้ยและเงื่อนไขสินเชื่อที่ดีขึ้น เป็นต้น
สรุปประเด็นสำคัญ
กำหนดขอบเขต วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาการทดสอบกลไกการกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อรายย่อย ภายใต้โครงการ RBP Sandbox ดังนี้
- ขอบเขตการทดสอบ : ในระยะแรก ผู้เข้าร่วมทดสอบสามารถทดสอบการให้สินเชื่อกับประชาชนด้วยกลไก RBP ใน 2 ผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ได้แก่ สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ
ที่มิใช่สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน (Unsecured p-loan) และสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ (Nano finance)
- ก่อนเข้าทดสอบ : ผู้ประสงค์ที่จะเข้าร่วมทดสอบต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดก่อนยื่นคำขอเข้าร่วมทดสอบ เช่น ผ่านการประเมินตามหลักเกณฑ์ Responsible lending โดยมีระยะเวลาการทดสอบครั้งละไม่เกิน 2 ปี
- ในระหว่างการทดสอบ : ผู้เข้าร่วมทดสอบต้องถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มเติม รวมทั้งประกาศอื่นที่เกี่ยวข้อง ยกเว้นสามารถเสนอ
สินเชื่อด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ยืดหยุ่นขึ้น
- การออกจากการทดสอบ : ผู้เข้าร่วมทดสอบสามารถออกจากการทดสอบได้ใน 2 กรณี คือ (1) ผลการทดสอบเป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด สามารถใช้กลไก RBP ให้บริการวงกว้างได้อย่างต่อเนื่องด้วยเพดานอัตราดอกเบี้ยตามที่กำหนดในโครงการ RBP Sandbox หรือ (2) ผลการทดสอบไม่เป็นไปตามเป้าหมายและตัวชี้วัดความสำเร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด ต้องยุติการทดสอบและกลับไปถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ปัจจุบันเช่นเดียวกับช่วงก่อนเข้าโครงการ