แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนมีนาคม ปี 2566 และไตรมาสที่ 1 ปี 2566

ข่าว ธปท. ฉบับที่ 22/2566 | 28 เมษายน 2566

สรุปสาระสำคัญ

เศรษฐกิจไทยในเดือนมีนาคม 2566 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยมูลค่าการส่งออกไม่รวมทองคำปรับลดลง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน ขณะที่เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว หลังจากที่หมวดสินค้าคงทนได้เร่งไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี ภาคบริการปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ สำหรับการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน

เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อน โดยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาหมวดอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานโดยรวมฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้าเป็นสำคัญ

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยมีดังนี้ 

มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะการส่งออกสินค้าเกษตรแปรรูป และเครื่องจักรไปสหรัฐฯ ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม การส่งออกบางหมวดปรับเพิ่มขึ้น อาทิ การส่งออกหมวดอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปสหรัฐฯ ที่ปรับดีขึ้นตามรอบการผลิตและส่งมอบสินค้าของผู้ประกอบการ และการส่งออกหมวดสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนไปยังประเทศจีน

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่ม หลังจากเร่งผลิตไปในช่วงก่อนหน้า และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ลดลง ประกอบกับปริมาณสินค้าคงคลังยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ดี การผลิตในบางหมวดปรับดีขึ้น โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ จากการผลิตรถกระบะเป็นสำคัญ และหมวดฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ จากการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่มีความจุขนาดใหญ่ สอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

 

มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วปรับลดลงจากเดือนก่อนตามการนำเข้าน้ำมันดิบ หลังจากเร่งไปในช่วงก่อนหน้า และการนำเข้าก๊าซธรรมชาติลดลงจากผลของด้านราคาเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้าสินค้าอุปโภคและบริโภค สินค้าทุน และวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน

 

เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วลดลงจากเดือนก่อน โดยการลงทุนในหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ปรับลดลงจากยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศและยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์เป็นสำคัญ สำหรับการลงทุนในหมวดก่อสร้างลดลง ตามพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้าง โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยและอาคารพาณิชย์ สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่แผ่วลงทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและอาคารชุด ขณะที่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับเพิ่มขึ้น

 

เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการปรับเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ขณะที่การใช้จ่ายหมวดสินค้าคงทนปรับลดลง ตามยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคล หลังจากเร่งส่งมอบไปในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อภาคครัวเรือนยังคงปรับดีขึ้น จากทั้งการจ้างงานและความเชื่อมั่นผู้บริโภค

 

จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนเป็นสำคัญ หลังทางการจีนอนุญาตให้นักท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์เดินทางมาไทยได้ ประกอบกับนักท่องเที่ยวสัญชาติยุโรปที่ไม่รวมรัสเซีย และมาเลเซียฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติหดตัว โดยเฉพาะตะวันออกกลาง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอด (รอมฎอน)

 

การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอนขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน จากรายจ่ายของรัฐบาลกลาง โดยรายจ่ายประจำขยายตัว ตามการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนบุคลากรและค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดการเลือกตั้ง สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัวตามการเบิกจ่ายของหน่วยงานด้านคมนาคมเป็นสำคัญ  ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากผลของฐานสูงในปีก่อน

 

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงทั้งในหมวดพลังงานและอาหารสด จากผลของฐานสูงในปีก่อน ประกอบกับราคาอาหารสดลดลงตามผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงตามราคาอาหารสำเร็จรูปจากผลของฐานสูงในปีก่อนเช่นกัน ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19  สะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้นจากดุลการค้า ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนเกินดุลเล็กน้อย ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยอ่อนค่า เนื่องจากตลาดเพิ่ม
การคาดการณ์ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือน มี.ค. ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งหลังของเดือน เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนจากความกังวลต่อปัญหาสถาบันการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก

 

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติที่เพิ่มขึ้นเป็นแรงส่งสำคัญ ทำให้ภาคบริการและเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนปรับเพิ่มขึ้น ด้านมูลค่าการส่งออกสินค้าปรับเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมและเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานลดลงจากผลของฐานสูงในปีก่อนเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเพิ่มขึ้น ตามรายรับภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงไตรมาสก่อน

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 เมษายน 2566

ข้อมูลเพิ่มเติม

งานเศรษฐกิจมหภาค

0 2283 5639, 0 2283 5647

macroeconomic-epd@bot.or.th

เอกสารแถลงข่าวทั้งหมด