หน้าหลัก
แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2553-2557)
เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของระบบการเงินให้สถาบันการเงินทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความสามารถในการแข่งขันและสามารถให้บริการกับลูกค้าทั้งภาคครัวเรือนและธุรกิจได้อย่างทั่วถึง โดยมีความมั่นคงในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนและธุรกิจมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลงและส่งเสริมประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 (แผนพัฒนาฯ 2) มีระยะเวลาการดำเนินนโยบายระหว่างปี 2553 – 2557 ต่อเนื่องจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 1 (แผนพัฒนาฯ 1) ที่วางกรอบการพัฒนาระบบสถาบันการเงินในช่วงปี 2547 – 2551 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างระบบสถาบันการเงินให้สามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แข็งแกร่ง และสามารถให้บริการได้ทั่วถึง ซึ่งมีมาตรการหลัก คือ การยกระดับสถาบันการเงินด้วยการส่งเสริมการควบรวม ขยายขอบเขตธุรกิจของธนาคารพาณิชย์เป็น Universal Banking ที่สามารถให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้ทุกกลุ่มและทำธุรกรรมทางการเงินได้เกือบทุกประเภท เพิ่มใบอนุญาตสถาบันการเงินในรูปแบบของธนาคารพาณิชย์ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคารต่างประเทศที่จดทะเบียนในประเทศไทย (Subsidiary) ส่งเสริมการให้บริการทางการเงินโดยเพิ่มใบอนุญาตสถาบันการเงินในรูปแบบของธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อย (ธย.) รวมทั้งกำหนดนโยบายให้มีสถาบันการเงินที่รับเงินฝากเพียง แห่งเดียวในกลุ่มธุรกิจการเงิน (One Presence) เพื่อลดความซ้ำซ้อนในระบบสถาบันการเงินและ เกิดความประหยัดต่อขนาด โดยหลังจากแผนพัฒนาฯ 1 มีผลบังคับใช้ โครงสร้างของระบบสถาบันการเงินไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด โดยสถาบันการเงินที่มีขนาดเล็กได้ควบรวมกันทำให้มีความมั่นคงขึ้นทั้งแง่ของเงินกองทุน การบริหารจัดการ และการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนมีการจัดตั้งกลุ่มธุรกิจการเงิน และ ธย. ขึ้น
แผนพัฒนาฯ 1 ได้ครบกำหนดเวลาดำเนินการแล้ว ประกอบกับสภาวะแวดล้อม ในระบบการเงินภายในประเทศและต่างประเทศที่มีผลต่อรูปแบบการทำธุรกิจของสถาบันการเงินเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งจากขอบเขตการประกอบธุรกิจ มาตรฐานการบริหารความเสี่ยง การพัฒนาของเทคโนโลยี การแข่งขันที่มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันระหว่างสถาบันการเงินด้วยกันเอง หรือกับตลาดทุนและผู้ให้บริการที่ไม่รับเงินฝาก (Non-bank) ทั้งภายในและต่างประเทศ รวมทั้ง ความเชื่อมโยงของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่มีมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากวิกฤติเศรษฐกิจโลก ในปี 2551
การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเงินดังกล่าวนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายโดยเฉพาะการรักษาไว้ซึ่งเสถียรภาพของระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยการดูแลให้ระบบสถาบันการเงินมีความมั่นคง มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี และมีประสิทธิภาพ กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ร่วมกันจัดทำแผนพัฒนาฯ 2 ขึ้น ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของการกำหนดเป้าหมายและวางกรอบทิศทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถบริหารจัดการความท้าทายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางการเงินดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ระบบการเงินสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น รวมทั้งสนับสนุนการขับเคลื่อนและพัฒนาระบบเศรษฐกิจโดยรวมให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ
เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินไทยสามารถปรับตัวให้มีความเข้มแข็ง ให้บริการได้อย่าง มีประสิทธิภาพและทั่วถึง พร้อมที่จะรองรับกับความท้าทายที่จะเกิดขึ้น ระบบสถาบันการเงินไทยในอนาคตจะต้องมีลักษณะสำคัญ คือ
1) ระบบสถาบันการเงินที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ต้นทุนบริการทางการเงินอยู่ในระดับที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
2) ระบบสถาบันการเงินที่เข้มแข็งและปรับตัวได้เร็วเพื่อสามารถรองรับความ ผันผวนที่เกิดจากภาวะแวดล้อมในโลกการเงิน
3) ระบบสถาบันการเงินที่มีความหลากหลายเพื่อให้สามารถทำหน้าที่ตัวกลาง ทางการเงินให้กับประชาชนได้ทั่วถึง
4) ระบบสถาบันการเงินที่มีความเป็นธรรมและโปร่งใสในการให้บริการทางการเงิน
นโยบายหลักและมาตรการของแผนพัฒนาฯ 2 แบ่งเป็น 3 องค์ประกอบสำคัญ (Pillar) ดังนี้
Pillar 1: การลดต้นทุนของระบบ
ต้นทุนในการดำเนินงานของสถาบันการเงินเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารงานของสถาบันการเงิน และส่งผลถึงราคาของการให้บริการแก่ผู้บริโภคและความสามารถในการแข่งขันกับสถาบันการเงินต่างประเทศ ทั้งนี้ มาตรการสำคัญในส่วนนี้จะคำนึงถึงต้นทุนสองด้าน ดังนี้
(1.1) ต้นทุนจากกฎระเบียบของทางการ
มาตรการ ในการปรับปรุงกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินยึดหลักการสำคัญที่ว่า การทบทวนกฎเกณฑ์จะเป็นไปเพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพของบริการทางการเงินและลดต้นทุนของสถาบันการเงิน แต่ต้องไม่กระทบความมั่นคงของสถาบันการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมทั้งไม่ริดรอนสิทธิผู้บริโภค
(1.2) ต้นทุนจากสินเชื่อและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (NPL และ NPA) ที่ยังคงค้างอยู่ในระบบสถาบันการเงิน
มาตรการ
1) สนับสนุนให้มีการตัดจำหน่ายหนี้สูญสำหรับสินทรัพย์จัดชั้นสงสัยจะสูญ ซึ่งได้มีการกันสำรองครบถ้วนแล้วตามมาตรฐานบัญชี
2) เพิ่มความต้องการซื้อในตลาดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ด้วยการเพิ่มศักยภาพอสังหาริมทรัพย์รอการขาย โดยขยายขอบเขตให้ธนาคารพาณิชย์สามารถร่วมลงทุนกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อพัฒนาให้มีสภาพพร้อมขายมากยิ่งขึ้น ในระยะยาวเมื่อนักลงทุนและสถาบันการเงินมีความพร้อม อาจมีมาตรการสนับสนุนการให้มีเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลาย เพื่อรองรับการซื้อขายสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ
3) เพิ่มประสิทธิภาพการซื้อขายในตลาดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ด้วยการตั้งศูนย์ข้อมูลกลางอสังหาริมทรัพย์รอการขาย สนับสนุนการสวมสิทธิของผู้ซื้อและการฟ้องร้องบังคับหลักประกันที่มีประสิทธิภาพ
Pillar 2: การส่งเสริมการแข่งขันและการเข้าถึงบริการทางการเงิน
การส่งเสริมการแข่งขันเป็นกลไกหลักที่จะช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพของระบบสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผู้ให้บริการในระบบหรือการเปิดเสรีให้ทำธุรกิจในขอบเขตที่กว้างขึ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันในด้านราคาและบริการ การเพิ่มโอกาสให้ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของระบบสถาบันการเงินก็จะเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจโดยรวมได้ในระยะยาว
(2.1) การส่งเสริมการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน การกำหนดมาตรการส่งเสริมการแข่งขันอยู่ภายใต้หลักการสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
(2.1.1) สร้างระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงเป็นหลักที่แข็งแกร่งแก่ระบบเศรษฐกิจได้ในทุกสภาวการณ์ (Resilient at all time)
(2.1.2) ส่งเสริมให้สถาบันการเงินมีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพจากการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) และจากขอบเขตธุรกิจที่กว้างขวาง เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน (Economy of scope)
(2.1.3) ส่งเสริมการแข่งขัน โดยให้สถาบันการเงินมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการสาขาและขอบเขตธุรกิจมากขึ้นซึ่งจะเป็นการเพิ่มบทบาทผู้ให้บริการเดิม
(2.1.4) อนุญาตให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ในระบบสถาบันการเงิน
(2.1.5) สนับสนุนบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Specialized Financial Institutions: SFIs)
(2.2) การส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ เข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อเพิ่มโอกาส ให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและประชาชนผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ตรงกับความต้องการและมีต้นทุนเหมาะสมมากขึ้น โดยมีมาตรการดังนี้
(2.2.1) ส่งเสริมสนับสนุนธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันให้มีรูปแบบการให้บริการที่เหมาะสมกับกลุ่มประชาชนที่ยังขาดโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงินในปัจจุบัน
(2.2.2) เปิดโอกาสให้มีผู้ให้บริการรายใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญและการบริหารจัดการที่ดีด้าน Microfinance เพิ่มเติม
(2.2.3) ปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยพื้นฐานต่างๆ
(2.2.4) สนับสนุนบทบาทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ในการปิดช่องว่างของ การให้บริการทางการเงินเชิงพาณิชย์
Pillar 3: การส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน
ในการผลักดันให้กลไกการดำเนินงานของระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั้น จำเป็นที่จะต้องมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญรองรับอย่างมีประสิทธิภาพและครบถ้วน โดยเฉพาะกลไกที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อซึ่งเป็นธุรกิจหลักของสถาบันการเงิน ภายใต้แผนพัฒนาฯ 2 นี้เห็นควรปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จำเป็นใน 5 ด้าน คือ
(3.1) การเพิ่มศักยภาพและเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านต่างๆ ของสถาบันการเงิน ประกอบด้วยความเสี่ยงด้านเครดิต ด้านตลาด ด้านสภาพคล่อง และความเสี่ยงด้านการ ชำระดุล (Settlement risk)
(3.2) การพัฒนาระบบข้อมูลสำหรับการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงิน
(3.3) การปรับปรุงกฎหมายการเงินที่สนับสนุนการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินในด้านของสินเชื่อและการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ได้แก่ 1) กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ 2) กฎหมายว่าด้วยการบังคับคดีแพ่ง 3) กฎหมายล้มละลายและฟื้นฟูกิจการ
(3.4) การส่งเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
(3.5) การส่งเสริมศักยภาพด้านบุคลากรในระบบสถาบันการเงิน