แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2559-2563)

วิสัยทัศน์

เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินไทย แข่งขันได้ สามารถตอบสนองความต้องการที่หลากหลายขึ้นด้วยราคาที่เป็นธรรม และสนับสนุนการเชื่อมโยง การค้าการลงทุนในภูมิภาค ภายใต้การกำกับดูแลเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเงิน หรือตามแนวคิด “แข่งได้ เข้าถึง เชื่อมโยง ยั่งยืน”

ที่มาและความสำคัญ

 

      ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ได้ร่วมกันกำหนดเป้าหมายและวางกรอบทิศทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงินผ่านการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (แผนพัฒนาฯ) ทั้งแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 1 (2547–2551) ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงโครงสร้างและจัดรูปแบบระบบสถาบันการเงินให้มีประสิทธิภาพและแข็งแกร่ง และแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 2 (2553–2557) ซึ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพ การส่งเสริมการแข่งขันในระบบสถาบันการเงิน การเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินโดยเฉพาะการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินโดยภายหลังจากการดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ ทั้ง 2 ฉบับ โครงสร้างของระบบสถาบันการเงินไทยมีความชัดเจนขึ้นทั้งในด้านรูปแบบและการประกอบธุรกิจ มีประสิทธิภาพ มีเสถียรภาพและความมั่นคงและส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

      อย่างไรก็ดี การที่สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศเปลี่ยนแปลงไปในหลายด้าน อาทิ การก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจยุคดิจิทัลที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว การรวมกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาค โครงสร้างประชากรของประเทศที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ การพัฒนาสู่สังคมเมือง และการเปลี่ยนแปลง เกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินตามมาตรฐานสากล ล้วนนำมาซึ่งโอกาสและความท้าทายต่อทิศทางการดำเนินงานและการปรับตัวของสถาบันการเงินและระบบการเงินในระยะต่อไป ธปท. จึงได้จัดทำแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 3 ซึ่งครอบคลุมในช่วงปี 2559–2563 ขึ้น เพื่อวางกรอบและทิศทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงินเพื่อเตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการ ให้เป็นกลไกสนับสนุนธุรกรรมทางเศรษฐกิจที่จะขยายตัวและมีความซับซ้อนมากขึ้น

      แนวนโยบายและมาตรการภายใต้แผนพัฒนาฯ ระยะที่ 3 ได้รับการกลั่นกรองอย่างครบถ้วนและรอบด้าน โดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากคณะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่าง ๆ1 ซึ่ง ธปท. จัดตั้งขึ้น และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน2 ตลอดจนมีการหารือกับหน่วยงานภาครัฐอื่นรวมถึงภาคธุรกิจและภาคธนาคารด้วย

 

1 ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ด้านธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านระบบการชำระเงิน และด้านตลาดทุน

 

 

 

เป้าหมาย

 

ระบบสถาบันการเงินไทยภายหลังแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 3 จะมีลักษณะ (Intended outcome) ดังนี้

 

(1) แข่งได้: สถาบันการเงินไทยแข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ มีต้นทุนดำเนินงานต่ำ มีบริการที่ครบถ้วนและหลากหลาย ด้วยราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม

(2) เข้าถึง: ประชาชนรายย่อย SMEs และธุรกิจขนาดใหญ่ สามารถเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างเหมาะสม ทั่วถึง และตรงกับความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคต

(3) เชื่อมโยง: สถาบันการเงินไทยมีบทบาทในภูมิภาค และมีบริการระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ

(4) ยั่งยืน: ระบบสถาบันการเงินไทยมีเสถียรภาพ สามารถรองรับการเติบโตของประเทศและสนับสนุนความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างยั่งยืน

 

 

แนวทางและมาตรการตามแผน

 

โดยแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 3 มีกรอบนโยบายหลัก 4 ด้าน ดังนี้

 

(1) ส่งเสริมการใช้บริการทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบ (Digitization & Efficiency)

โดยเน้นการสร้างความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการทางการเงิน สนับสนุนนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองต่อการขยายตัวของธุรกิจ ให้เกิดความสะดวกและมีต้นทุนที่เหมาะสม

(1.1) ส่งเสริมให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนใช้บริการทางการเงินและการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์อย่างแพร่หลาย (Digitization) ภายใต้แนวคิดบริการทางการเงินทุกที่ ทุกเวลา (Banking anywhere, anytime) โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้คล่องตัวและรวดเร็วขึ้น และสามารถให้บริการทางการเงินเข้าถึงผู้ใช้บริการกลุ่มต่าง ๆ ได้มากขึ้น โดยส่งเสริมให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการอื่น ๆ มีบทบาทในการให้บริการทางการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วยผลิตภัณฑ์และบริการที่หลากหลายและสอดรับความต้องการของผู้ใช้บริการต่าง ๆ

(1.2) ปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Efficiency) ของสถาบันการเงินและผู้ให้บริการอื่น ๆ ให้ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

(1.3) ประเมินโครงสร้างระบบสถาบันการเงินสำหรับระยะต่อไป (Financial landscape) เพื่อส่งเสริมประสิทธิภาพและเสถียรภาพของระบบโดยรวม

 

(2) สนับสนุนการเชื่อมต่อการค้าการลงทุนในภูมิภาค (Regionalization)

เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินในการสนับสนุนการขยายตัวของการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงของประเทศในภูมิภาค เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) และการขยายตัวของธุรกิจไทยไปยังประเทศในภูมิภาคดังกล่าวเช่น การเจรจาเปิดเสรีภาคการธนาคารในกลุ่มอาเซียน หรือที่เรียกว่า Qualified ASEAN Banks (QABs) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมทางการเงินให้เอื้อต่อการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

 

(3) ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Access)

(3.1) ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินของภาคประชาชน โดยส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุรวมถึงการเพิ่มช่องทางการเข้าถึงในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มากขึ้น เช่น การให้บริการผ่านตัวแทน และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพองค์กรการเงินชุมชน

(3.2) ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินและการพัฒนาศักยภาพของภาควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่จำเป็นของระบบสถาบันการเงิน เพื่อเพิ่มโอกาสให้ SMEs ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านสถาบันการเงินและช่องทางอื่น

(3.3) ส่งเสริมการระดมทุนของภาคธุรกิจขนาดใหญ่ผ่านตลาดทุน โดยประสานงานกับหน่วยงานรัฐและผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันส่งเสริมและพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการระดมทุนของภาคเอกชน รวมถึงสนับสนุนการดำเนินการตามแผนพัฒนาตลาดทุนไทย

 

(4) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Enablers) เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาฯ ระยะที่ 3

จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในระบบการเงินควบคู่กันไป ทั้งการพัฒนาบุคลากรทางการเงินการส่งเสริมความรู้ทางการเงินและความคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน การสนับสนุนให้มีกฎหมายทางการเงินที่เอื้อต่อการบริหารความเสี่ยงและการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน รวมทั้งการพัฒนาเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินและผู้ให้บริการทางการเงินให้เหมาะสมตามมาตรฐานสากลเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบโดยรวม

 

 

รายละเอียดของแผน

  • แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 3 (พ.ศ.2559-2563)

  • เนื้อหาของแผน (บทสรุป)

  • แผนภาพแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3

  • สรุปรายละเอียดมาตรการแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระยะที่ 3