แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2547 – 2551)

วิสัยทัศน์

เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินมีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ มีการแข่งขันของผู้ให้บริการ มีการกระจายบริการทางการเงินสู่ประชาชนที่มีศักยภาพทั้งประเทศอย่างทั่วถึง รวมทั้งเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองและเป็นธรรม

ที่มาและความสำคัญ

 

      ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยมีลักษณะ Dual economy ประกอบด้วยภาคอุตสาหกรรมที่มีพัฒนาการค่อนข้างสูง และภาคเศรษฐกิจอื่นๆ ภายนอกกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานมากกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งประเทศ แต่ในระยะเวลาที่ผ่านมา ระบบสถาบันการเงินของไทย ยังเน้นการให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก และยังไม่ให้ความสำคัญในการให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มที่ยังด้อยโอกาสเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนในต่างจังหวัด รวมถึงธุรกิจขนาดย่อย (Micro Enterprises) ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงต้องการได้รับบริการทางการเงินที่ดีขึ้น

 

      นอกจากนี้ วิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี พ.ศ. 2540 ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบบสถาบันการเงินต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม รวมทั้งตระหนักถึงสิ่งที่ระบบสถาบันการเงินไทยสามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ เช่น การพัฒนาประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน และการปรับความ

สมดุลในระบบการเงินโดยการพัฒนาตลาดทุนควบคู่กันไปกับการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

     

      ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงเล็งเห็นความสำคัญของการกำหนดแนวทางในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่แน่ชัด และได้เริ่มจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (แผนพัฒนาฯ) ตั้งแต่ต้นปี 2545 ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมาย/วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และแผนการดำเนินการเพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยและในการกำหนดนโยบายสถาบันการเงินในระยะ 5 - 10 ปี ข้างหน้า โดยเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2545 ธปท.ได้ตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กผส.) โดยมีผู้แทนจากรัฐบาล หน่วยงานกำกับสถาบันการเงิน (ธปท. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และ กรมการประกันภัย) ผู้แทนจากภาคการเงิน ผู้แทนจากลูกค้าและประชาชน รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อกำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

 

 

เป้าหมาย

 

กผส. ได้กำหนดวิสัยทัศน์ของแผนพัฒนาฯ 1 ไว้ 3 ประการ คือ

 

(1) ต้องการให้ระบบสถาบันการเงินไทยมีการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึงทั้งด้านคุณภาพและปริมาณสำหรับผู้ใช้บริการที่มีศักยภาพ (Potential users) โดยไม่มีความแตกต่างระหว่างผู้ใช้บริการกลุ่มต่างๆ ระหว่างในเมืองและนอกเมือง

(2) ระบบสถาบันการเงินต้องมีประสิทธิภาพ เสถียรภาพ สามารถแข่งขันได้ และองค์ประกอบของระบบการเงินทั้งในส่วนของสถาบันการเงิน ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารทุนที่ค่อนข้างสมดุล

(3) ผู้บริโภคจะต้องได้รับความคุ้มครองและความเป็นธรรม

 

 

แนวทางและมาตรการตามแผน

 

ในการร่างแผนพัฒนาฯ 1 ธปท. ได้ยึดถือวิสัยทัศน์ของระบบสถาบันการเงินไทยทั้ง 3 ประการเป็นหลัก และได้ทำการวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาในระบบสถาบันการเงินในรายละเอียด ซึ่ง ธปท. ได้นำผลการศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวไปใช้ประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงิน สรุปได้ดังนี้

 

(1) มาตรการส่งเสริมการให้บริการทางการเงินอย่างทั่วถึง ดังนี้

(1.1) วางแนวทางส่งเสริมการให้บริการทางการเงินระดับรากหญ้าเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดโอกาสเข้ารับบริการทางการเงินของผู้มีรายได้น้อย

(1.2) ขยายบทบาทธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ให้เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท เพื่อให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประชาชน และชุมชนในชนบทตลอดจนองค์กรอื่นๆ เช่น สหกรณ์ องค์กรปกครองท้องถิ่น กองทุนหมู่บ้าน และวิสาหกิจชุมชนเป็นต้น 

(1.3) ส่งเสริมสถาบันการเงินให้บริการทางการเงินแก่ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น 

 

 

(2) มาตรการส่งเสริมประสิทธิภาพระบบสถาบันการเงิน

(2.1) จัดรูปแบบและบทบาทของสถาบันการเงินให้มีความชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อให้ระบบสถาบันการเงินสามารถตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนได้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นลดความซ้ำซ้อนจากการมีสถาบันการเงินหลากหลายประเภทที่ให้บริการแบบเดียวกันแก่ลูกค้ากลุ่มเดียวกันในระบบ และสอดรับกับสภาพการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งแนวโน้มในอนาคต ดังนี้

(2.1.1) จัดระเบียบสถาบันการเงินไทย

(2.1.2) จัดระเบียบสถาบันการเงินต่างประเทศ

(2.1.3) นโยบายสถาบันการเงิน 1 รูปแบบ (One Presence)

(2.1.4) การให้แรงจูงใจสำหรับการให้สินเชื่อแก่ประชาชนรายย่อยและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

(2.2) ให้มีกฎ ระเบียบที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ดังนี้

(2.2.1) ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน

(2.2.2) แก้ไขอุปสรรคต่อการควบรวมกันระหว่างสถาบันการเงินทางด้านภาษี

(2.2.3) การพิจารณาผ่อนปรนกฎเกณฑ์ที่ขัดขวางการพัฒนาประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน

(2.2.4) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันการเงิน

(2.2.5) ส่งเสริมให้กลไกตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

 

(3) มาตรการดูแลผู้บริโภค

● ให้สถาบันการเงินแต่ละแห่งจัดให้มีกระบวนการร้องเรียนของผู้บริโภคอย่างชัดเจน

● ส่งเสริมให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับบริการทางการเงินในลักษณะที่ง่ายต่อการเข้าใจและการเปรียบเทียบของผู้บริโภค

● ติดตามการเปิดเผยข้อมูลสถานะและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงินให้เป็นไปตาม International Standard

 

 

 

เรื่องน่ารู้

เพื่อให้การจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและแผนพัฒนาฯ มีความเหมาะสมสามารถใช้งานได้จริง อันจะช่วยส่งเสริมบทบาทของสถาบันการเงินในการระดมเงินทุนจากประชาชนและใช้เงินทุนโดยประชาชนในลักษณะที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินประกอบด้วยผู้แทนจากหน่วยงานกำกับสถาบัน การเงินรวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิผู้แทนจากภาคการเงินผู้แทน จาก ลูกค้าและประชาชน โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่จะกำหนดวัตถุประสงค์ของแผนพัฒนา ระบบสถาบันการเงินไทย กำหนดขอบเขตการดำเนินงาน กำหนดทิศทาง แนวนโยบาย ให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ให้ข้อเสนอในการปรับปรุงโครงสร้างระบบการเงิน และโครงสร้างอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ควบคุมการดำเนินงานของคณะทำงานร่างแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ตลอดจนพิจารณาร่างแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่คณะทำงานร่างแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินจัดทำขึ้น เพื่อนำมาใช้ถือปฏิบัติต่อไป

รายชื่อคณะกรรมการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

 
1ผู้ว่าการประธาน
2รองผู้ว่าการ (เสถียรภาพการเงิน)กรรมการ
3รองผู้ว่าการ (เสถียรภาพสถาบันการเงิน)กรรมการ
4นายประสาร ไตรรัตน์วรกุลกรรมการ
5นางสาวพจนีย์ ธนวรานิชกรรมการ
6นายอัมมาร สยามวาลากรรมการ
7นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์กรรมการ
8นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์กรรมการ
9นายสถาพร ชินะจิตรกรรมการ
10นายภควัต โกวิทวัฒนพงศ์กรรมการ
11นายทวี บุตรสุนทรกรรมการ
12นายสุวรรณ ไตรผลกรรมการ
13นางธาริษา วัฒนเกสเลขานุการ
14นางทัศนา รัชตโพธิ์ ผู้ช่วยเลขานุการ

นับตั้งแต่ ปี 2546 การจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน มีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับปี 2535 ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการค้า การลงทุน และการเงินในภูมิภาค ดังเช่นประเทศสิงคโปร์ หรือ ฮ่องกง โดยการจัดทำแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับนี้ เริ่มต้นจากการสำรวจความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ว่าผู้ใช้บริการทางการเงินในปัจจุบันได้รับการตอบสนองอย่างไร พอเพียงหรือไม่ มีความต้องการบริการทางการเงินอะไร และมีปัญหาอะไรในการใช้บริการทางการเงินในปัจจุบัน โดยที่การส่งเสริมบริการทางการเงินที่ให้กับประชาชนจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ และระบบสถาบันการเงินในที่สุด

ประชาชนจะได้รับบริการจากสถาบันการเงินที่ดีขึ้นทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพอันเนื่องมาจากมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนต่างๆ

ด้านปริมาณ : ประชาชนทุกกลุ่มจะได้รับบริการทางการเงินพื้นฐานจากผู้ให้บริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจรายย่อย (SME) ซึ่งสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่จําเป็นได้มากขึ้น

ด้านคุณภาพ : ประชาชนจะได้รับบริการทางการเงินที่มีคุณภาพดีขึ้น ทั้งด้านราคา ความหลากหลาย และคุณภาพการให้บริการอื่นๆ เพราะสถาบันการเงินมีการพัฒนาประสิทธิภาพในการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากแรงผลักดันที่จะปรับปรุงประสิทธิภาพการดําเนินการภายในสถาบันการเงินเอง ประกอบกับภาวะการแข่งขันที่สูงขึ้นและการจะเปิดโอกาสให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในระบบในอนาคต

1. สามารถแข่งขันได้เท่าเทียมกับสถาบันการเงินอื่น ลดข้อจํากัดด้านขอบเขตการประกอบธุรกิจผ่านการการจัดรูปแบบและบทบาทของสถาบันการเงิน เช่น สถาบันการเงินไทย บริษัทเงินทุน/บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ที่เปิดดําเนินการและมีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถขอยกระดับเป็น ธพ. ซึ่งสามารถประกอบธุรกรรมทางการเงินได้เกือบทุกประเภท  สง.ต่างประเทศสามารถขอยกระดับเป็น Subsidiary ที่สามารถมีสาขาได้เพิ่มขึ้น

2. สถาบันการเงินมีการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันอยู่ตลอดเวลา โดยมีกฎระเบียบที่ส่งเสริมประสิทธิภาพการดําเนินงานของสถาบันการเงิน ทั้งด้านการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน และการผ่อนปรนกฎเกณฑ์ที่ขัดขวางการพัฒนาประสิทธิภาพของสถาบันการเงิน จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้นและสามารถอยู่รอดได้ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้การส่งเสริมให้กลไกตลาดทํางานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นรายใหม่ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมสามารถเข้ามาในระบบได้ในอนาคต ผู้เล่นปัจจุบันสามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน และผู้เล่นที่ไม่เข้มแข็งสามารถออกจากระบบได้โดยไม่ส่งผลต่อความมั่นคงของระบบ รวมทั้ง มีบริการทางการเงินจากตลาดทุนที่สามารถใช้ทดแทนบริการทางการเงินจากสถาบันการเงินได้ดี

ดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้อง

 

รายละเอียดของแผน

  • คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

  • เนื้อหาของแผน (13 ม.ค. 47)

  • Thailand's Financial Sector Master Plan Handbook (เฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น)

บทศึกษา

  • บทสรุปผู้บริหาร :โครงการศึกษาความต้องการบริการทางการเงิน

  • รายงานฉบับสมบูรณ์ : โครงการศึกษาความต้องการบริการทางการเงิน (ชุดประชาชน)

  • รายงานฉบับสมบูรณ์ : โครงการศึกษาความต้องการบริการทางการเงิน (ชุดผู้ประกอบการ)

  • การวิจัยเชิงคุณภาพ (Focus Group)

ถาม-ตอบ

  • เนื้อหาของแผน

  • ประเด็นคำถามเกี่ยวกับสถาบันการเงินไทย