How to บริหารจัดการหนี้
ฉบับ “คนสร้างตัว” 

 

debt management

คน Gen Y ที่อายุอยู่ในช่วง 25-43 ปี ถือเป็นกลุ่มความหวังของเศรษฐกิจไทย ด้วยอายุที่ยังน้อยจึงเป็นคนกลุ่มหลักที่จะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอีก 2-3 ทศวรรษข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกัน คน Gen Y ก็มีเรื่องที่ต้องกังวลหลายอย่าง 

 

จากการคำนวณสัดส่วนหนี้ต่อรายได้ โดยใช้ข้อมูลจากเครดิตบูโร และผลสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2566 คน Gen Y มีหนี้คิดเป็น 2.44 เท่าของรายได้ สูงที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงอายุอื่น

 

แน่นอนว่าการมี “หนี้” ไม่ใช่เรื่องผิด แต่หนี้ที่เพิ่มขึ้นสูงรวดเร็วของคนไทยเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง และเป็นความเสี่ยงทั้งต่อการเติบโตและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงิน 

 

ฉะนั้น การมีหนี้อย่างสมเหตุสมผล สมควรแก่ความจำเป็น จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในวัยสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างคน Gen Y เพราะนอกจากจะไม่ทำให้ทุกข์แล้ว ยังจะช่วยให้ใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่นและคล่องตัวมากขึ้นด้วย 

 

ในบทความนี้เราจึงมีคำแนะนำง่าย ๆ มาให้สำหรับคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว หรือคนที่กำลังเผชิญกับปัญหาหนี้ เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการบริหารจัดการหนี้ได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

 

Gen Y debt
Gen Y

ต่อไปนี้คือ คำถามยอดฮิตที่คน Gen Y สนใจสอบถามมากที่สุด พร้อมคำตอบจาก Fin. Trainers ของโครงการ Fin. ดี Happy Life ที่อาจเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจด้านการเงินของผู้อ่าน

บ้านหรือรถ? ปัญหาคลาสสิกของคนกำลังสร้างตัว

 

Q: บ้านกับรถ ควรกู้เงินมาซื้ออะไรก่อนดี?

 

A: ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว ขึ้นอยู่กับความจำเป็นของแต่ละคน โดยควรตัดสินใจเลือกจากสถานการณ์ที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ โดยเฉพาะการประเมินว่าหนี้ก้อนนี้จะเป็น “สิ่งจำเป็น” หรือ “ภาระ” ตลอดจนชั่งน้ำหนักทั้งด้านบวกและด้านลบอย่างรอบด้าน เช่น การได้มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง ค่าใช้จ่ายที่นอกเหนือจากค่างวด (อาทิ ค่าบำรุงรักษาบ้านและรถ ค่าส่วนกลาง ค่าที่จอดรถ)

 

ในกรณีที่ประเมินแล้วคิดว่าทั้งบ้านและรถมีความจำเป็นเหมือนกันหรือเท่า ๆ กัน ขอแนะนำให้มี “บ้าน” ก่อน เพราะบ้านเป็นสินทรัพย์ที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้ชีวิต และส่วนใหญ่มูลค่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ซึ่งตรงกันข้ามกับรถที่มูลค่าจะลดลงเรื่อย ๆ ตามการใช้งาน

 

Q: อยากหมดหนี้บ้านเร็ว ๆ ควรโปะค่างวดเพิ่มยังไงดี

 

A: สำหรับคนที่อยากจะเคลียร์จบหนี้บ้านให้เร็วขึ้น ขอแนะนำว่า เมื่อวันที่ต้องจ่ายค่างวดมาถึงให้จ่ายเงินโปะเพิ่มจากค่างวดปกติได้เลย ซึ่งถ้าโปะตรงวันกำหนดชำระของแต่ละงวด เงินที่เราจ่ายเพิ่มจะถูกนำไปตัดเงินต้นเต็ม ๆ 

 

แต่สำหรับคนที่มาจ่ายค่างวดเพิ่มหลังจากวันที่กำหนดชำระไปแล้ว เงินที่จ่ายเพิ่มจะถูกนำไปตัดดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ในช่วงหลังจากวันที่คำนวณดอกเบี้ยไปแล้วถึงวันที่ลูกค้านำเงินมาจ่าย และหากยังมีเงินเหลือจึงจะถูกนำไปตัดเงินต้น (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในสัญญาของลูกค้าแต่ละคน) ซึ่งไม่ว่าจะโปะวันไหนก็ช่วยให้เราสามารถประหยัดดอกเบี้ยได้และหมดหนี้ไวขึ้นด้วย  

้house debt

Q: การกู้เงินเกินจำนวนในการรีไฟแนนซ์บ้าน เพื่อนำมาใช้ปลดหนี้ตัวอื่นเป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่?

 

A: ขออธิบายเรื่องการรีไฟแนนซ์บ้านก่อนว่าจะช่วยให้ผู้กู้ได้ดอกเบี้ยบ้านที่ถูกลง แต่การที่จะรีไฟแนนซ์บ้านเพื่อนำเงินมาชำระหนี้อื่นที่ดอกเบี้ยสูงกว่า จะคิดเรื่องดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการรีไฟแนนซ์แต่ละครั้งด้วย เช่น ค่าประเมินหลักทรัพย์ ค่าจดจำนอง ค่าอากรแสตมป์ เพื่อจะได้เปรียบเทียบต้นทุนและความคุ้มค่ากับดอกเบี้ยที่ประหยัดได้อย่างรอบคอบ 

 

นอกจากนี้ ควรนึกถึงทางเลือกอื่น ๆ นอกจากการรีไฟแนนซ์ด้วย เพราะเดี๋ยวนี้ธนาคารบางแห่งมีการให้วงเงินสินเชื่ออเนกประสงค์เพิ่มเพื่อนำไปใช้ปิดหนี้ประเภทอื่น ๆ ได้ด้วย แต่ผู้กู้จำเป็นต้องพิจารณาเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ย (ที่อาจจะแพงกว่าเดิม) และความสามารถในการชำระหนี้ของตนเอง เพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าและประกอบการตัดสินใจ

 

หนี้บัตรเครดิต : ความสะดวกสบายที่ต้องระมัดระวัง

 

Q: หากจะจ่ายแค่ขั้นต่ำของใบแจ้งยอดบัตรเครดิต ต้องระวังอะไรบ้าง

 

A: การจ่ายขั้นต่ำตามใบแจ้งยอดอาจมีข้อดีในเรื่องการเหลือสภาพคล่องในมือ แต่หากเราจ่ายขั้นต่ำไปเรื่อย ๆ ก็จะต้องเสียดอกเบี้ยมากขึ้น (ลูกหนี้หลายคนไม่รู้ว่าการจ่ายขั้นต่ำต้องเสียดอกเบี้ย) ในบางกรณีอาจถึงขั้นดอกเบี้ยท่วมต้น กลายเป็นหนี้เรื้อรังหลายปี ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงการจ่ายแค่ขั้นต่ำหากไม่จำเป็น และเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการใช้บัตรเครดิตสูงสุดก็ควร “จ่ายเต็มจำนวน” และ “จ่ายตรงเวลา” หรือจ่ายให้ได้มากที่สุดและมากกว่าขั้นต่ำ เพื่อให้เสียดอกเบี้ยน้อยกว่าการจ่ายขั้นต่ำ


ตัวอย่าง บัตรเครดิตใบหนึ่งมียอดหนี้คงค้าง 30,000 บาท ถ้าจ่ายขั้นต่ำที่ 10% ของยอดหนี้คงค้างในแต่ละงวด จะใช้เวลากว่า 3 ปี จึงจะจ่ายหนี้หมด โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมประมาณ 4,244 บาท แต่หากจ่ายมากกว่าขั้นต่ำไหว เช่น จ่าย 50% ของยอดหนี้คงค้างในแต่ละงวด จะใช้เวลาเพียง 9 เดือน และจ่ายดอกเบี้ยรวมประมาณ 851 บาท ก็จะปิดหนี้ก้อนนี้ได้สำเร็จ 

 

example

Q: ถ้าเป็นหนี้เสียบัตรเครดิต ควรแก้ปัญหาอย่างไร?

 

A: ถ้าเป็นหนี้เสียบัตรเครดิต ควรรีบติดต่อผู้ออกบัตรเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ เช่น เปลี่ยนประเภทหนี้ จ่ายปิดจบหนี้ด้วยเงินก้อนและขอส่วนลดหนี้ หรือที่เรียกว่า แฮร์คัต (haircut) และเจ้าหนี้เองก็มีมาตรการให้ความช่วยเหลือรองรับอยู่แล้ว แต่จะใช้วิธีไหนก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการผ่อนชำระของลูกหนี้ และการพิจารณาของเจ้าหนี้ นอกจากนี้ ลูกหนี้ยังสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการคลินิกแก้หนี้ by SAM (บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด) เพื่อให้มีคนกลางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้เสียให้เราได้อีกทาง ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.คลินิกแก้หนี้.com หรือ โทร. 1443

 

Q: เป็นหนี้เสียบัตรเครดิต มีโอกาสถูกยึดบ้านได้หรือไม่?

A: เป็นหนี้เสียบัตรเครดิตอาจถูกยึดบ้านได้หากเจ้าหนี้ติดตามทวงถามหนี้แล้วแต่ไม่ได้รับชำระหนี้คืน เพราะเจ้าหนี้มีสิทธิ์ฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมาย และหากยังไม่ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา เจ้าหนี้จะส่งบังคับคดีให้ยึดทรัพย์และนำทรัพย์สินของลูกหนี้ เช่น บ้าน ที่ดิน ออกขายทอดตลาด เพื่อชดใช้ยอดหนี้คงเหลือ

 

เริ่มจ่ายหนี้ไม่ไหว : ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขก่อนที่จะสายเกินไป

 

Q: ควรกู้เงินจากแหล่งเงินกู้หนึ่ง มาจ่ายอีกที่หนึ่งเพื่อรักษาเครดิตไหม?

 

A: การกู้เงินที่คิดดอกเบี้ยแพงกว่ามาจ่ายหนี้ที่มีอยู่เพราะไม่อยากเสียเครดิต ไม่ใช่ทางออกที่ดี เพราะอาจทำให้ต้องเข้าสู่วังวนหนี้ไม่จบสิ้นและมีปัญหาหนักกว่าเดิมเพราะภาระดอกเบี้ยสูงขึ้น 

 

คำแนะนำคือ ควรลองไปคุยกับเจ้าหนี้เพื่อแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นแทน เช่น ขอลดดอกเบี้ย หรือแปลงหนี้บัตรเป็นสินเชื่อระยะยาว แต่หากจะกู้เงินที่มีดอกเบี้ยต่ำกว่าเพื่อปิดหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าอย่างหนี้นอกระบบ แนะนำให้ทำได้

 

Q: อยากปรับโครงสร้างหนี้ ต้องทำอย่างไร?

 

A: 3 ขั้นตอน สำหรับคนที่จ่ายหนี้ไม่ไหวและต้องการปรับโครงสร้างหนี้ มีดังนี้

 

(1) สำรวจสถานการณ์ทางการเงินของตนเอง ตรวจสอบรายรับ-รายจ่าย ในปัจจุบันและอนาคตเพื่อประเมินเงินคงเหลือในมือสำหรับใช้จ่าย และเก็บออมเพื่อเป้าหมายต่าง ๆ ในชีวิต

 

(2) เลือกวิธีปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ทางการเงิน แต่ไม่ว่าจะเลือกวิธีไหน ต้องแน่ใจว่าจ่ายไหว

 

(3) จัดเตรียมข้อมูลและเอกสารที่จำเป็นในการเจรจาให้ครบถ้วน เช่น สัญญาเงินกู้เดิม เอกสารแสดงเงินเดือน ถ้ายิ่งเจรจาเร็ว ทางออกยิ่งเยอะ จบปัญหาได้ง่ายและเร็วกว่าการทิ้งคาราคาซังไปเรื่อย ๆ

 

Q: ถ้าเจ้าหน้าที่สถาบันการเงินเสนอแผนปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ลูกหนี้รู้สึกว่าผ่อนไม่ไหว ควรทำอย่างไร?

 

A: ลองเจรจากับเจ้าหนี้อีกครั้ง และทำหนังสือขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้พร้อมแนบแผนการชำระหนี้ที่คิดว่าทำได้จริง เพื่อส่งไปที่กรรมการผู้จัดการของสถาบันการเงินนั้นพิจารณา จำไว้ว่า อย่าตกลงทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้ ถ้าประเมินตัวเองแล้วเห็นว่าจะจ่ายไม่ไหวตามจำนวนเงินที่เจ้าหนี้เสนอมา 

 

คำถามและคำตอบเหล่านี้เป็นเพียงข้อแนะนำเบื้องต้นเท่านั้น หากใครต้องการแก้หนี้สามารถศึกษา 3 ช่องทางที่ ธปท. จัดไว้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในสถานการณ์ที่ต่างกัน ทั้งคลินิกแก้หนี้ ทางด่วนแก้หนี้ และหมอหนี้เพื่อประชาชน ได้ที่...

 

https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-67-2/256702-the-knowledge-3channels.html

Fin D Happy Life
Fin D Happy Life

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถศึกษาความรู้ทางการเงินสำหรับคนวัยทำงานได้ที่...

https://www.bot.or.th/th/satang-story/fin-d-happy-life/happy-life-resource.html

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine แก้หนี้ยั่งยืน จัดการหนี้ Financial Wisdom