ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

(Northeastern GRP Forecast)

07 มี.ค. 2568

ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 67-68

ประมาณการ ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2568

เศรษฐกิจอีสาน ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อยในช่วง 0.7 ถึง 1.7% ขณะที่ปี 68 ขยายตัวในช่วง 1.2 ถึง 2.2%

อัตราการเติบโตรายปี 2565-68

ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย จากผลผลิตเกษตรที่ขยายตัวตามผลของสภาพอากาศช่วงครึ่งหลังของปีที่ดีกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลดีต่อเนื่องถึงภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มผลิตอาหารและสินค้าเกษตรแปรรูป เช่นเดียวกับภาคการค้าที่ขยายตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวดี และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ในช่วงปลายปี อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่หดตัวจากอุปสงค์ที่อ่อนแรง และสต๊อกบ้านที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ภาคก่อสร้างหดตัวกว่าที่ประเมินไว้ 

 

ปี 68 ขยายตัว จากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรขยายตัวในทุกพืชสำคัญ ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตามหมวดอาหาร ด้านภาคการค้าขยายตัวจากรายได้ภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดี อีกทั้งบางส่วนยังได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐ ช่วยสนับสนุนการบริโภค ขณะที่ภาคก่อสร้างขยายตัว โดยได้รับอานิสงส์จากการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังคงหดตัวจากอุปสงค์ที่อ่อนแอและภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้การฟื้นตัวช้ากว่าที่ประเมินไว้ 

ผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอีสาน (GRP)

กราฟแสดงผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคอีสาน

รายละเอียดทิศทางการเติบโตของกิจกรรมสำคัญ

(เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน)

 

เกษตร เพิ่มขึ้น

  • ปี 67 ขยายตัวเล็กน้อย จากสภาพภูมิอากาศช่วงครึ่งหลังของปีที่ดีกว่าที่ประเมินไว้ ส่งผลให้ผลผลิตของข้าวนาปีและอ้อย ขยายตัวกว่าที่คาด ยางพาราขยายตัวจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่กรีด และปริมาณฝนที่อยู่ในเกณฑ์ดีทำให้ต้นยางสมบูรณ์ กอปรกับแรงจูงใจด้านราคาที่ดีในช่วงต้นปี ด้านมันสำปะหลังขยายตัวตามการขยายพื้นที่เพาะปลูกทดแทนพืชที่เสียหายจากภัยแล้งปีก่อน ทั้งนี้ การแพร่ระบาดของโรคใบด่างยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง
  • ปี 68 ขยายตัว จากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยในช่วงเพาะปลูก ทั้งข้าว ยางพารา อ้อย และมันสำปะหลัง โดยยางพาราขยายตัวจากแรงส่งด้านราคาและผลผลิตที่ดีต่อเนื่อง และมันสำปะหลังขยายตัวตามการเพิ่มพื้นที่ปลูกเพื่อทดแทนอ้อยและข้าวโพดที่มีต้นทุนสูงขึ้น ทั้งนี้ สถานการณ์โรคใบด่างคาดว่าปรับดีขึ้นบ้าง

 

อุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น

  • ปี 67 ขยายตัว จากการผลิตหมวดอาหารเป็นสำคัญ ได้แก่ การผลิตน้ำตาลทรายขาวตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่เพิ่มขึ้น และการสีข้าวตามผลผลิตเกษตรที่ดีขึ้นจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย
  • ปี 68 ขยายตัว จากหมวดอาหารที่ขยายตัวต่อเนื่องจากปัจจัยสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อผลผลิตทางการเกษตร ทำให้การผลิตยางพาราแปรรูป การผลิตน้ำตาล และการสีข้าวปรับดีขึ้น

 

การค้า เพิ่มขึ้น

  • ปี 67 ขยายตัว จากรายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวดี และมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐช่วงครึ่งหลังของปี ช่วยสนับสนุนการบริโภค สอดคล้องกับความเชื่อมั่นที่ทยอยปรับดีขึ้น
  • ปี 68 ขยายตัวเล็กน้อย จากรายได้ภาคเกษตรที่อยู่ในเกณฑ์ดีช่วยพยุงการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค อีกทั้งบางส่วนยังได้รับผลดีจากมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐในระยะถัดไป อย่างไรก็ตามประชาชนยังมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความตึงตัวในภาคการเงินและภาระหนี้ ทำให้การบริโภคในหมวดยานยนต์ยังฟื้นตัวช้า

 

ก่อสร้าง เพิ่มขึ้น

  • ปี 67 หดตัว ตามการหดตัวของอุปสงค์ภาคอสังหาริมทรัพย์ และสต๊อกบ้านที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการลงทุนใหม่ โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่เป็นสัดส่วนใหญ่ของภาคก่อสร้างในภาคอีสานได้รับผลกระทบมากกว่าที่ประเมินไว้
  • ปี 68 กลับมาขยายตัว จากการลงทุนก่อสร้างภาครัฐ โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ตามงบประมาณปี 68 ที่ได้รับการจัดสรรมากขึ้น รวมถึงมีเม็ดเงินเบิกจ่ายเหลื่อมปีจากปี 67 

 

อสังหาริมทรัพย์ ลดลง

  • ปี 67 หดตัว ตามอุปสงค์ที่อ่อนแอ กำลังซื้อที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง ภาระหนี้ที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับสถาบันการเงินยังคงระมัดระวังการให้สินเชื่อ ทำให้การซื้ออสังหาริมทรัพย์หดตัวในทุกประเภทและทุกระดับราคา ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและแนวสูง
  • ปี 68 หดตัว โดยผู้บริโภคฐานรากที่เป็นกลุ่มใหญ่ยังประสบปัญหาด้านกำลังซื้อ ภาระหนี้และคุณภาพของสินเชื่อที่ด้อยลง ส่งผลให้การฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ ขณะที่ผู้บริโภคกลุ่มบนมองว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ทำให้ส่วนใหญ่ยังชะลอการซื้ออสังหาริมทรัพย์ออกไปก่อน

หมายเหตุ :

  1) โครงสร้างเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปี 65 ประกอบด้วย เกษตร 21% อุตสาหกรรม 19% การค้า 12% ก่อสร้าง 4% อสังหาฯ 4% และอื่นๆ 40%
  2) กำหนดเผยแพร่ประมาณการผลิตภัณฑ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครั้งต่อไป ในเดือนกรกฎาคม 2568


ที่มา : สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานประกันสังคม, กรมศุลกากร, กรมสรรพสามิต, กรมสรรพากร, กรมการขนส่งทางบก, การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, กรมธุรกิจพลังงาน, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กรมท่าอากาศยาน, ท่าอากาศยานไทย, GFMIS, กรมการปกครอง, กรมที่ดิน, The Nielsen Company, ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ คำนวณโดย ธปท.

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โทร 0 4391 3532

Neo-econ-div@bot.or.th