ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

28 กุมภาพันธ์ 2568

แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เดือนมกราคม 2568

สรุปสาระสำคัญ
  • เศรษฐกิจภาคอีสานทรงตัว จากเดือนก่อน
  • ในเดือนก่อน กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาขยายตัว จากการใช้จ่ายหมวดสินค้าอุปโภคบริโภคช่วงวันหยุดยาวและเทศกาลสิ้นปี ประกอบกับรายได้เกษตรกรที่อยู่ในเกณฑ์ดีช่วยสนับสนุนให้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาขยายตัว สอดคล้องกับภาคบริการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง และสภาพอากาศที่หนาวเย็น
  • เดือนนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมทรงตัว ตามรายได้เกษตรกรที่ขยายตัวเล็กน้อย จากปัจจัยด้านผลผลิตเป็นสำคัญ และการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง ตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน และภาคบริการท่องเที่ยวกลับมาหดตัว หลังเร่งไปในช่วงเทศกาลและวันหยุดยาวสิ้นปี

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้ว)
 

รายได้เกษตรกร ขยายตัวเล็กน้อย (เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน)

ตามผลผลิตอ้อยและยางพาราที่ขยายตัวจากสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่ปัจจัยด้านราคาหดตัว จากราคามันสำปะหลังตามความต้องการซื้อของต่างประเทศที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และราคาอ้อยที่หดตัวตามราคาอ้อยขั้นต้นที่ปรับลดลง

 

การผลิตภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง

ตามการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัว หลังจากชะลอการผลิตไปในช่วงก่อนหน้า รวมถึงการผลิตยางพาราแปรรูปที่ขยายตัวตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ขณะที่การผลิตน้ำตาลทรายหดตัว หลังจากเร่งการผลิตไปในเดือนก่อนที่มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้นจากวันเปิดหีบที่เร็วขึ้นกว่าปกติ

 

ภาคบริการท่องเที่ยว กลับมาหดตัว

ตามจำนวนผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและต่างชาติที่หดตัว จากการจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยวในวันหยุดยาวที่ลดลงหลังเร่งไปในเดือนก่อน สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารขาเข้าผ่านท่าอากาศยานที่ลดลงเกือบทุกสนามบิน ส่งผลให้อัตราการเข้าพักแรมลดลง

 

การบริโภคภาคเอกชน หดตัวเล็กน้อย

ตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าหมวดบริการที่หดตัวหลังเร่งไปในเดือนก่อน ขณะที่สินค้าคงทนกลับมาขยายตัวชั่วคราว ตามรอบการส่งมอบรถเพื่อจดทะเบียนที่เพิ่มขึ้น

 

การลงทุนภาคเอกชน หดตัว

ตามการลงทุนด้านการก่อสร้างที่หดตัวต่อเนื่อง ทั้งยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์และพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่กลับมาหดตัว ทั้งยอดจำหน่ายเครื่องจักรภายในประเทศ ยอดการนำเข้าสินค้าทุน และยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์

 

การค้าผ่านด่านศุลกากร ขยายตัวเล็กน้อย

ตามการส่งออกที่ขยายตัว ในหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปเวียดนาม และ สปป. ลาว รวมถึงผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และน้ำตาลทรายขาว ไป สปป. ลาว 
ขณะที่การนำเข้าที่ทรงตัว จากการนำเข้ามันสำปะหลังจาก สปป. ลาวที่เพิ่มขึ้น แต่การนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์จากเวียดนามลดลง

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามราคาพลังงานเป็นสำคัญ

 

ตลาดแรงงาน ทรงตัว ตามการจ้างงานในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเกษตรที่ปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรลดลง โดยเฉพาะภาคก่อสร้างที่ลดลง ตามสถานการณ์การลงทุนภาคเอกชน และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับลดลงต่อเนื่อง

 

ปัจจัยที่ต้องติดตาม

- ทิศทางราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก

- สถานการณ์การบริโภคสินค้าคงทน

- ผลการเบิกจ่ายงบผูกพันของภาครัฐ

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย
28 กุมภาพันธ์ 2568

 

หมายเหตุ

สาขาเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ที่มีความสำคัญต่อภาคอีสาน ได้แก่ การอุปโภคบริโภค การลงทุนภาคเอกชน การใช้จ่ายภาครัฐ และการค้าผ่านด่านศุลกากร ตามลำดับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

ส่วนเศรษฐกิจการเงินภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

043 913 532

Neo-econ-div@bot.or.th