ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้
09 กุมภาพันธ์ 2567
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
แถลงข่าวภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคใต้ ปี 2566
xxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxxx
รายได้เกษตรกร กลับมาหดตัว
ตามรายได้ในกลุ่มสินค้าหลักที่หดตัว โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน และยางพารา ตามผลผลิตและราคาที่ลดลง จากสภาพอากาศร้อนแล้ง และความต้องการของคู่ค้าลดลง ขณะที่รายได้เกษตรกรทุเรียนขยายตัวดี จากทั้งราคาและผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ตามพื้นที่ให้ผลและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยกว่าปีก่อน
ภาคอุตสาหกรรม กลับมาหดตัว
ตามคำสั่งซื้อคู่ค้าชะลอ โดยเฉพาะการผลิตยางพาราแปรรูป และอาหารทะเลกระป๋องที่ลดลง จากปริมาณสต๊อกอยู่ในระดับสูง อีกทั้งการผลิตอาหารทะเลแช่เย็นฯ หดตัวตามการบริโภคของคู่ค้า โดยเฉพาะญี่ปุ่นซึ่งมีปัจจัยกดดันจากเงินเยนอ่อนค่า อย่างไรก็ดี การผลิตถุงมือยางหดตัวน้อยลงตามปริมาณสต๊อกคู่ค้าที่ทยอยลดลง และการผลิตไม้ยางกลับมาขยายตัว
การท่องเที่ยว ขยายตัวต่อเนื่อง
ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและไทยที่เพิ่มขึ้น จากอุปสงค์และเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ทยอยฟื้นตัว โดยนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวในหลายสัญชาติหลักทั้งมาเลเซีย รัสเซีย และยุโรป ขณะที่นักท่องเที่ยวจีนทยอยฟื้นตัวแต่ยังมีจำนวนน้อย ด้านนักท่องเที่ยวไทยขยายตัวต่อเนื่อง
การอุปโภคบริโภค ขยายตัวต่อเนื่อง
ตามปัจจัยหนุนของการจ้างงานและรายได้ในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากการใช้จ่ายในหมวดบริการ สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้ากึ่งคงทนที่ปรับดีขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดท่องเที่ยว และพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายหมวดยานยนต์ทรงตัว
การลงทุนภาคเอกชน กลับมาหดตัว
ตามการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ผลจากการผลิตที่ลดลง ประกอบกับมีการเร่งนำเข้าสินค้าทุนไปแล้วในปีก่อน อย่างไรก็ดี การลงทุนก่อสร้างยังคงขยายตัว สะท้อนจากพื้นที่ขออนุญาตก่อสร้างที่เร่งขึ้นโดยเฉพาะที่อยู่อาศัยและโรงแรม ขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวเล็กน้อย
การค้าผ่านด่านศุลกากร การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง
การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง ตามคำสั่งซื้อคู่ค้าที่ลดลง โดยเฉพาะยางพาราแปรรูปและอาหารทะเลแปรรูป ด้านการนำเข้าหดตัวต่อเนื่อง ตามการลงทุนที่ลดลง จากเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน คอมพิวเตอร์ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก
อัตราเงินเฟ้อ ชะลอลง ตามราคาพลังงานที่ลดลง ประกอบกับมีมาตรการภาครัฐช่วยบรรเทาค่าครองชีพ
ตลาดแรงงาน ฟื้นตัวต่อเนื่อง ตามอานิสงส์ภาคการท่องเที่ยวที่ขยายตัวสะท้อนจากจำนวนผู้ประกันตน ม.33 ในพื้นที่ท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อาทิ ภูเก็ต กระบี่ และเกาะสมุย สอดคล้องกับจำนวนผู้ขอรับสิทธิ์ประโยชน์ว่างงาน (ม.38) ที่ลดลง
แนวโน้มเศรษฐกิจภาคใต้ ปี 2567 คาดว่าขยายตัวชะลอลง
ตามภาคการท่องเที่ยว ส่วนหนึ่งจากนักท่องเที่ยวจีนที่ฟื้นตัวช้า เช่นเดียวกับการลงทุนภาคก่อสร้างที่ชะลอลง หลังเร่งไปมากในช่วงก่อน อย่างไรก็ดี ภาคการค้าคาดว่ายังขยายตัว ตามแรงส่งของภาคการท่องเที่ยว และรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับปัจจัยหนุนจากแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตและส่งออกคาดว่าปรับดีขึ้น
ธนาคารแห่งประเทศไทย
9 กุมภาพันธ์ 2567
ข้อมูลเพิ่มเติม : ส่วนเศรษฐกิจการเงิน 1-3 ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้
โทรศัพท์ : 0 7443 4890
E-mail : FinancialEconomic1-SRO@bot.or.th