ความเป็นมาของการเชื่อมโยงระบบการชำระเงิน

 

บริการพร้อมเพย์ได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างล้นหลาม ด้วยบริการที่มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และไม่เสียค่าธรรมเนียม ทำให้ยอดสมัครใช้บริการและปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2559 และยิ่งดีดตัวสูงขึ้นในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในปี 2563 ที่ประชาชนต้องปรับพฤติกรรม ลดการสัมผัสเงินสด และทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นเพื่อรักษาระยะห่างทางสังคม ทำให้ปริมาณธุรกรรมการโอนเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้น 


จากผลตอบรับที่ดีภายในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงมุ่งต่อยอดบริการพร้อมเพย์ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างขึ้น ด้วยการเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านกลุ่มอาเซียนภายใต้แนวคิด ASEAN Payment Connectivity และประเทศอื่น ๆ ที่มีการแลกเปลี่ยนแรงงานหรือการท่องเที่ยวระหว่างกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งบริการที่ ธปท. ได้เดินหน้าเชื่อมโยงกับต่างประเทศในระยะใกล้นี้ประกอบด้วย (1) การชำระเงินระหว่างประเทศด้วย QR Payment และ (2) การโอนเงินระหว่างประเทศ โดยจุดเด่นของบริการทั้งสองนี้บนระบบพร้อมเพย์คือ การได้รับเงินทันทีด้วยค่าธรรมเนียมที่ต่ำลง ในอนาคตจะขยายบริการไปยังประเทศต่าง ๆ และเพิ่มจำนวนผู้ให้บริการเพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการให้มากขึ้น

connectivity

การชำระเงินกับต่างประเทศ

Cross-border QR Payment-TH

ตัวอย่าง: 1. นักท่องเที่ยวไทยไปประเทศเวียดนาม สามารถใช้ Mobile Application ของ BAY, BBL, KTB  สแกน VietQR ของ TPBank หรือ BIDV ของร้านค้าในประเทศเวียดนามเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ

         2. นักท่องเที่ยวมาเลเซียมาประเทศไทย สามารถใช้ Mobile Application ของ Public bank สแกน Thai QR payment ของ BBL, KBANK, KTB, SCB, BAY หรือ CIMB Thai ของร้านค้าในประเทศไทยเพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ

 

          อย่างไรก็ดี ในอนาคต มีแผนจะขยายจำนวนผู้ให้บริการให้มากขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมการให้บริการแก่ผู้ใช้งานมากที่สุด ตลอดจนขยายการเชื่อมโยงไปยังประเทศต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มความสะดวก รวดเร็วแก่ผู้ใช้งาน

ตัวอย่าง: 1. แรงงานสิงคโปร์ในประเทศไทยโอนเงินกลับบ้าน สามารถใช้ Mobile Application ของ BAY, BBL, KBANK, KTB, SCB โอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือไปยังธนาคาร DBS, OCBC, UOB

         2. แรงงานไทยในประเทศสิงคโปร์โอนเงินกลับบ้าน สามารถใช้ Mobile Application ของ DBS, OCBC, UOB โอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือไปยังธนาคาร BAY, BBL, KBANK, KTB, SCB

 

แผนภาพแสดง​การเชื่อมโยงการชำระเงินกับต่างประเทศ

การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินของไทยกับประเทศต่าง ๆ

การเชื่อมโยงด้านการชำระเงินระหว่างสองประเทศผ่านการชำระเงินด้วย Interoperable QR Code ซึ่งสอดคล้องตามมาตรฐานสากลและรองรับการชำระเงินรายย่อยระหว่างลูกค้าและร้านค้าของทั้งสองประเทศ โดยบริการดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยวกัมพูชาที่เดินทางมาประเทศไทยสามารถใช้ mobile banking application ของธนาคารกัมพูชาที่ร่วมให้บริการสแกน Thai QR Code ที่ร้านค้าในประเทศไทย และในทางกลับกันลูกค้าไทยสามารถใช้ mobile banking application ของธนาคารไทยที่เข้าร่วมโครงการสแกนมาตรฐาน QR Code ที่ร้านค้าในประเทศกัมพูชาได้  

การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างสองประเทศ และจะเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนการเข้าถึงบริการการชำระเงินของประชาชนตลอดจนเป็นการสนับสนุนการใช้เงินสกุลท้องถิ่นอีกด้วย 

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

  • แถลงข่าวร่วม การเปิดตัวนวัตกรรมด้านบริการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างกัมพูชาและไทย

การเชื่อมโยงบริการชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างไทยและญี่ปุ่นดำเนินการโดยธนาคารไทยร่วมกับผู้ให้บริการในประเทศญี่ปุ่น ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำให้นักท่องเที่ยวชาวไทยสามารถชำระค่าสินค้าและบริการด้วยการสร้าง QR Code ในมาตรฐาน MyPromptQR ด้วย mobile banking application ในโทรศัพท์มือถือ เพื่อให้ร้านค้าที่ร่วมโครงการในประเทศญี่ปุ่นใช้เครื่องอ่านในการรับชำระเงินได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ทั้งนี้ ประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในสามจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปมากที่สุด บริการดังกล่าวจึงจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกและเป็นประโยชน์กับนักท่องเที่ยวไทยจำนวนมากต่อไป

​การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยของ 2 ประเทศ ได้แก่ ระบบพร้อมเพย์ของประเทศไทย และระบบ Real-time Retail Payments Platform ของประเทศมาเลเซีย โดย ธปท. ได้ร่วมกับธนาคารกลางมาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) ร่วมกันผลักดันให้มีบริการชำระเงิน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียด้วย QR Code มาตรฐาน ได้แก่ DuitNow QR code ซึ่งเป็น QR มาตรฐานของประเทศมาเลเซีย และ Thai QR code ซึ่งเป็น QR มาตรฐานของประเทศไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศชำระค่าสินค้าและบริการของร้านค้าระหว่างกันได้ โดยความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) เพื่อส่งเสริมการบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาค ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพและความสะดวกในการทำธุรกรรมชำระเงินระหว่างประเทศ โดยจะทำให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมระหว่างประเทศได้รวดเร็วขึ้น ด้วยค่าธรรมเนียมที่ถูกลง และพัฒนาประสบการณ์การใช้งานบริการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งการเชื่อมโยงครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

การเชื่อมโยงบริการชำระเงินด้วย QR Code ระหว่างประเทศไทยและประเทศเวียดนาม เกิดขึ้นจากความร่วมมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางของเวียดนาม (State Bank of Vietnam: SBV) และธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมโครงการของทั้งสองประเทศ เป็นผลให้นักท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศมีทางเลือกในการชำระค่าสินค้าและบริการที่สะดวก รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำลง ด้วยการใช้ mobile banking application ของธนาคารที่ร่วมโครงการในโทรศัพท์มือถือสแกน QR Code ซึ่งเป็น QR Code มาตรฐานของทั้งสองประเทศคือ Thai QR Payment และ VietQR ถือเป็นก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) เพื่อส่งเสริมการเติบโตและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของระบบการเงินในภูมิภาค

Promptpay-Paynow

 

การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยของ 2 ประเทศครั้งแรกของโลก ได้แก่ ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของประเทศไทย และระบบเพย์นาว (PayNow) ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนของทั้งสองประเทศโอนเงินระหว่างกันได้ โดยในระยะแรก ผู้ใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมให้บริการ จะสามารถโอนเงินระหว่างประเทศไทยและประเทศสิงคโปร์ได้ในจำนวนไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ หรือ 25,000 บาท ต่อวัน ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารพาณิชย์ที่ร่วมให้บริการ โดยใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือของผู้รับโอน และไม่จำเป็นต้องใส่ข้อมูลอื่นเหมือนบริการโอนเงินระหว่างประเทศทั่วไป เช่น ชื่อ-นามสกุล และรายละเอียดของบัญชีผู้รับโอน บริการนี้จะช่วยให้ผู้โอนสามารถโอนเงินได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัย และทำได้ทุกที่ทุกเวลาเสมือนกับการโอนเงินภายในประเทศด้วยหมายเลขโทรศัพท์ผ่านพร้อมเพย์หรือเพย์นาว โดยการโอนใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที เร็วกว่าการโอนเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 1-2 วัน ในอนาคตจะขยายผลของการบริการพร้อมเพย์-เพย์นาว ทั้งการเพิ่มจำนวนธนาคารที่ให้บริการ และการขยายวงเงินการโอนเพื่อสนับสนุนภาคธุรกิจในอนาคต

​PromptPay-NETS

 

การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินรายย่อยของ 2 ประเทศ ได้แก่ ระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ของประเทศไทย และ NETS ของประเทศสิงคโปร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักท่องเที่ยวหรือประชาชนที่เดินทางระหว่างสองประเทศสามารถชำระค่าสินค้าและบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น เป็นการพัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จในการพัฒนา QR Code มาตรฐานในประเทศไทย ในระยะต่อไปจะพัฒนาในครอบคลุมการให้บริการทั้งจำนวนของร้านค้า และธนาคารในโครงการ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

  • ข้อมูลการจัดทำโครงการ Promptpay-PayNow

  • คำถามคำตอบที่พบบ่อยเกี่ยวกับ PromptPay-PayNow

​การเชื่อมโยงด้านการชำระเงินระหว่างสองประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของประเทศไทยและประเทศอินโดนีเซีย ให้บริการชำระเงินด้วยนวัตกรรม QR Code ที่เป็นมาตรฐาน ส่งผลให้ลูกค้าและร้านค้าของทั้งสองประเทศสามารถทำรายการชำระเงินและรับเงินระหว่างกันผ่าน QR Code ได้ทันที โดยลูกค้าในประเทศไทยสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการสแกน QRIS (Quick Response Code Indonesian Standard) ซึ่งเป็น QR มาตรฐานของประเทศอินโดนีเซีย ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าในประเทศอินโดนีเซีย ส่วนลูกค้าในประเทศอินโดนีเซียสามารถใช้แอปพลิเคชันบนมือถือของหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการสแกน Thai QR Code ชำระค่าสินค้าและบริการร้านค้าของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการในประเทศไทย นับเป็นอีกก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ที่ส่งเสริมการบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาค 

HK

โครงการการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศผ่าน QR code ระหว่างไทยและฮ่องกง จะช่วยให้นักท่องเที่ยวระหว่างไทยและฮ่องกงมีช่องทางการชำระเงินที่ปลอดภัย รวดเร็ว และต้นทุนต่ำ ผ่านการเชื่อมโยงระบบพร้อมเพย์ของไทยกับระบบการชำระเงินรายย่อยของฮ่องกง (Faster Payment System: FPS) โดยนักท่องเที่ยวไทยจะสามารถใช้แอปพลิเคชันของธนาคารไทยที่เข้าร่วมโครงการ สแกน QR code มาตรฐานของฮ่องกง (FPS QR payments) ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการในฮ่องกงประมาณ 50,000 แห่ง ขณะที่นักท่องเที่ยวฮ่องกงสามารถใช้แอปพลิเคชันของธนาคารฮ่องกงที่เข้าร่วมโครงการ สแกน Thai QR Code ชำระค่าสินค้าและบริการที่ร้านค้าของธนาคารที่เข้าร่วมโครงการในประเทศไทยกว่า 8 ล้านแห่ง

QR Laos-Thailand (1)

​การเชื่อมโยงด้านการชำระเงินระหว่างสองประเทศผ่านโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินของประเทศไทย และ สปป. ลาว ส่งผลให้ลูกค้าและร้านค้าของทั้งสองประเทศสามารถทำรายการชำระเงินผ่าน QR Code ได้ทันที รองรับการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งการเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างสองประเทศนับเป็นอีกก้าวสำคัญของการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity) ที่ส่งเสริมการบูรณาการทางการเงินในระดับภูมิภาค

ทั้งนี้ การเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างประเทศไทย และ สปป. ลาว จะเริ่มให้บริการจากขาผู้ใช้บริการจาก สปป. ลาว สแกน Thai QR Code เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าในไทยที่เข้าร่วมโครงการได้ในระยะแรก (เริ่มให้บริการนับจากวันที่ 3 เมษายน 2567 เป็นต้นไป) และขยายบริการให้ผู้ใช้บริการจากไทยสามารถสแกน LAO QR code เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าใน สปป. ลาวที่เข้าร่วมโครงการในเดือนมิถุนายน 2567

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

table-inbound
table-outbound