มาตรการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ และการรวมหนี้
หลังจากที่แบงก์ชาติได้ออกมาตรการแก้หนี้ระยะยาวในเดือนกันยายน 2564 ยังพบว่าลูกหนี้ยังได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง จึงได้ออกมาตรการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ (refinance)* และการรวมหนี้เพิ่มเติม เพื่อช่วยลดภาระให้กับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีหรือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19
*รีไฟแนนซ์ คือ การปิดสินเชื่อจากเจ้าหนี้เดิมและย้ายไปใช้สินเชื่อของเจ้าหนี้ใหม่ที่ให้เงื่อนไขดีกว่า เช่น อัตราดอกเบี้ยถูกลง
แบงก์ชาติออกมาตรการห้ามสถาบันการเงิน/ผู้ประกอบธุรกิจภายใต้การกำกับของแบงก์ชาติ เรียกเก็บ ค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด (prepayment fee)** ของสินเชื่อส่วนบุคคลหรือสินเชื่อรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเป็นการชั่วคราว จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566 เพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนด
**ค่าปรับจากการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนครบกำหนด คือ ค่าปรับที่ลูกหนี้ต้องจ่ายให้เจ้าหนี้ในกรณีที่ปิดสินเชื่อก่อนระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยทั่วไปการรีไฟแนนซ์อาจไม่คุ้มค่า หากค่าปรับส่วนนี้สูงกว่าดอกเบี้ยที่ลูกหนี้ประหยัดจากการรีไฟแนนซ์ได้
แบงก์ชาติออกมาตรการให้สถาบันการเงินผ่อนปรนให้ลูกหนี้สามารถรวมหนี้ สินเชื่อบ้านและสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นเข้าด้วยกัน โดยขยายขอบเขตจากเดิมที่ดำเนินได้เฉพาะแบงก์เดียวกันให้สามารถรวมหนี้ข้ามแบงก์ได้ เพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยและการผ่อนค่างวดให้แก่ลูกหนี้ในระยะยาว
การรวมหนี้สินเชื่อบ้านกับสินเชื่อรายย่อยเพื่อช่วยลดภาระดอกเบี้ยและการผ่อนค่างวด โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อบ้านไม่เพิ่มขึ้นจากเดิม และในส่วนของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ กำหนดไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านภายหลังช่วงจัดรายการส่งเสริมการขาย (teaser rate) บวก 2% ต่อปี
การรวมหนี้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก ดังนี้
1) การรวมหนี้ภายในสถาบันการเงินเดียวกัน
2) การรวมหนี้ระหว่างสถาบันการเงิน โดยโอนหนี้บัตรจากธนาคารแห่งหนึ่งไปรวมกับหนี้บ้านของธนาคารอีกแห่งหนึ่ง หรือจะเป็นการโอนหนี้บ้านไปรวมกับหนี้บัตรก็ได้
3) การโอนหนี้บ้านและหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นไปรวมกันที่สถาบันการเงินแห่งใหม่ที่ลูกหนี้ไม่เคยมีหนี้ด้วยมาก่อน
1) อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อรายย่อยลดลงเมื่อนำมารวมหนี้ ลูกหนี้จะมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น
2) ชำระหนี้ได้ง่ายขึ้น เพราะเหลือหนี้ก้อนเดียวและอัตราดอกเบี้ยอัตราเดียว
3) ลูกหนี้ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต หากเจรจารวมหนี้สำเร็จตั้งแต่ก่อนเป็นหนี้เสีย
1) ลูกหนี้สามารถรวมหนี้ได้ไม่เกินมูลค่าของหลักประกัน ทั้งนี้ หากยอดหนี้ของสินเชื่อรายย่อยสูงกว่ามูลค่าหลักประกันสามารถขอรวมหนี้บางส่วนได้
2) ลูกหนี้ต้องให้ความยินยอมเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น เช่น ชื่อเจ้าหนี้ ยอดหนี้คงค้าง แก่ธนาคารที่ทำการรวมหนี้
3) ลูกหนี้อาจถูกพิจารณาปรับลดวงเงินส่วนที่นำไปรวมหนี้ เพื่อให้อยู่ในระดับที่ลูกหนี้สามารถบริหารจัดการได้