วางแผนการเงิน 101 :

“สมรสเท่าเทียม” การเงินเท่าทัน

marriage equality

นับว่าเป็นข่าวดีของคู่รักหลาย ๆ คู่ที่สมรสเท่าเทียมเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา ทำให้ผู้มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ว่าจะเพศใดก็สามารถจดทะเบียนสมรสภายใต้กฎหมายได้ และยังได้รับสิทธิต่าง ๆ ตามกฎหมาย เช่น การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรสที่หามาได้ร่วมกันหรือการดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สิน สิทธิได้รับประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐในฐานะคู่สมรส การอุปการะบุตรบุญธรรม การให้ความยินยอมต่อการรักษาพยาบาล


ไม่ว่าจะการแต่งงาน การวางแผนครอบครัว หรือในทุก ๆ กิจกรรม ล้วนมีเรื่อง “เงิน” เข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ การวางแผนทางการเงินนับว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เราสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อให้ชีวิตเรามีความมั่นคงมากขึ้น ซึ่งอันดับแรกเลยควรออมเงินและฝึกการใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลก่อน ต่อมาก็จำเป็นต้องรู้วิธีการวางแผนการจัดสรรรายได้เพื่อให้ตอบโจทย์เป้าหมายการออมและเพียงพอกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และเมื่อมีครอบครัว แน่นอนว่าความรับผิดชอบและภาระทางการเงินจะเพิ่มขึ้น ไม่รวมถึงการเกษียณที่ทุกคนจะต้องเผชิญกับรายได้ที่ลดลง จึงควรวางแผนให้ดีเพื่อให้ชีวิตทางการเงินของเรามีสุข

 

พระสยาม BOT MAGAZINE ขอพาทุกท่านไปวางแผนการเงินในทุกช่วงจังหวะของชีวิต ที่จะทำให้ทุกท่านบริหารจัดการเงินได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

ครอบครัว ความรับผิดชอบ และภาระทางการเงิน

 

การแต่งงาน หรือ “สมรส” นับเป็นก้าวสำคัญของการสร้างครอบครัวและแน่นอนว่าจะต้องมีเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานแต่งงาน การแยกบ้านออกมาอยู่เอง การอุปการะบุตร หรือกิจกรรมอื่น ๆ ก็มักมาพร้อมกับค่าใช้จ่ายเสมอ

 

เมื่อเข้าสู่ชีวิตคู่ การตกลงร่วมกันเรื่องการบริหารจัดการเงินนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ เรียกได้ว่า “เรื่องเงิน เรื่องใหญ่” เลยทีเดียว พื้นฐานวิธีการจัดการเงินแบบคนมีคู่ คือ

 

1. เปิดใจคุยเรื่องเงินกันแต่เนิ่น ๆ ทั้งเรื่องทรัพย์สิน หนี้สิน ภาระอื่น ๆ ตกลงวิธีจัดการเงินว่าจะแยกหรือรวม หรือแยกครึ่งรวมครึ่ง เพราะทรัพย์สินที่หามาได้หลังจากการจดทะเบียนสมรสจะกลายเป็นสินสมรส คือมีความเป็นเจ้าของร่วมกันในทรัพย์สินนั่นเอง

 

2. เลือกวิธีที่เหมาะสมและทำได้ (ไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับทุกครอบครัว)

 

3. ทำตามกติกาที่ตั้งไว้อย่างมีวินัย

 

4. หากรู้สึกกดดันหรือทำตามที่ตกลงกันไว้ไม่ได้ ให้เปิดใจคุยกันใหม่

 

ส่วนคู่ไหนที่ตกลงปลงใจที่จะแยกออกมาอยู่ด้วยกัน ก็อาจมีค่าใช้จ่ายตามมาทั้งก้อนเล็กและก้อนใหญ่ ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ารักษาพยาบาล ไปจนถึงการซื้อทรัพย์สินร่วมกัน เช่น ที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ ที่อาจจะกู้ร่วมกัน สิ่งที่ตามมาคือค่าใช้จ่ายและดอกเบี้ย ที่ต้องศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจทำธุรกรรมใด ๆ

 

นอกจากนี้ หากคู่รักหลาย ๆ คู่ที่ต้องการอุปการะบุตร ก็ต้องเตรียมเงินเพื่อรองรับค่าใช้จ่ายสำหรับการเลี้ยงดูบุตรไว้ด้วย ทั้งค่าใช้จ่ายตามปัจจัย 4 ค่าเทอมเพื่อการศึกษา และค่าใช้จ่ายจิปาถะอื่น ๆ แต่หลาย ๆ ท่านก็อาจมีภาระค่าใช้จ่ายด้านการดูแลพ่อและแม่ที่สูงวัยมากขึ้นด้วย

marriage equality

แผนใช้เงิน เรื่องง่าย ๆ ทำได้ทุกคน

 

นอกจากการพูดคุยกันถึงการบริหารจัดการเงินในชีวิตคู่แล้ว การมีเครื่องมือที่จะช่วยให้แผนนั้นสำเร็จก็เป็นสิ่งสำคัญ ครั้งนี้ขอพาทุกท่านไปรู้จักกับแผนใช้เงิน (budget planner) ที่ใช้คาดการณ์รายรับ รายจ่ายที่จะเกิดขึ้น และช่วยให้เราสามารถวางแผนอนาคตได้ดียิ่งขึ้น สามารถทำแผนการใช้เงินได้ทั้งแบบรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน โดยแผนการใช้เงินประกอบด้วย 1. ข้อมูลรายรับ 2. ข้อมูลรายจ่าย 3. ส่วนเปรียบเทียบรายรับและรายจ่าย

 

ตัวอย่างการทำแผนใช้เงินรายเดือน

 

1. บันทึกรายรับ : เริ่มจาการบันทึกรายรับหรือคาดว่าจะได้รับ เช่น เงินเดือน เงินปันผลจากการลงทุน บันทึกทั้งหมดลงในส่วนที่ (1)

 

2. บันทึกรายจ่าย : บันทึกรายจ่ายที่เกิดขึ้นเป็นประจำหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายจากการชำระหนี้ และรายจ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำทุกเดือน เช่น ค่าดูแลรักษารถ ค่าเทอมลูก ค่าประกันพ่อแม่ รวมถึงเงินออมต่าง ๆ ก็ถือเป็นรายจ่ายเช่นกัน เพราะเป็นรายการที่ทำให้เงินออกจากกระเป๋าในเดือนนั้น ๆ

 

3. เปรียบเทียบรายรับและรายจ่าย : นำช่อง (1) และ (2) มาเปรียบเทียบกันและทำเครื่องหมายวงกลมไว้ที่ส่วนที่ (3) ว่ารายรับมากกว่า เท่ากับ หรือน้อยกว่ารายจ่าย แต่จะเป็น “แผนใช้เงิน” ได้ ก็ต่อเมื่อรายรับมากกว่ารายจ่ายเท่านั้น

marriage equality

- รายรับ > รายจ่าย : เป็นแผนใช้เงินได้ เพราะรายรับเพียงพอต่อรายจ่ายและยังเหลือเงินเก็บเผื่อฉุกเฉินด้วย แต่ต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าจดรายการครบถ้วนหรือไม่

 

- รายรับ = รายจ่าย : สามารถเป็นแผนใช้เงินได้ หากมีเงินออกเผื่อฉุกเฉินไว้แล้ว แต่หากท่านใดที่ยังไม่มีก็ควรออมเงินสำหรับเผื่อฉุกเฉินไว้ด้วย เพราะหากมีสถานการณ์ฉุกเฉินอาจทำให้เกิดปัญหาได้ เช่น ค่าซ่อมรถ ค่ารักษาพยาบาล

 

- รายรับ < รายจ่าย : ไม่สามารถใช้เป็นแผนใช้เงินได้ เพราะรายจ่ายเกินรายรับที่มี หากใช้จ่ายแบบนี้ไปเรื่อย ๆ อาจเข้าสู่วังวนหนี้ เสี่ยงที่จะก่อหนี้ใหม่ไปเรื่อย ๆ ต้องเร่งจัดการเงินอย่างจริงจัง เริ่มจากการลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกก่อน และอาจหารายได้เพิ่มเติม

 

สามารถศึกษาแผนการใช้เงินอย่างละเอียด รวมถึงดาวน์โหลด worksheet แผนใช้เงิน ได้ที่ https://www.bot.or.th/th/satang-story/money-plan/budgeting.html

marriage equality

การออม รู้ก่อน ดีกว่า

 

“การออม” คือการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเก็บสะสมไว้เพื่อใช้ในวัตถุประสงค์ต่าง ๆ เช่น เพื่อใช้ในอนาคต เผื่อเวลาฉุกเฉิน และสำหรับใช้จ่ายส่วนตัวตามความชอบ ซึ่งเป็นเครื่องมือวางแผนการเงินที่สำคัญมาก และสามารถทำได้ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็น เด็ก วัยทำเรียน วัยทำงาน จนถึงวัยเกษียณ 

 

หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินทฤษฎีที่ช่วยเรื่องการบริหารจัดการเงินและการออมมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น ทฤษฎีโหล 6 ใบ (6 Jars Money Management) โดยแบ่งเงินเป็น 

 

โหลใบที่ 1. 55% เงินสำหรับค่าใช้จ่ายจำเป็น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร

 

โหลใบที่ 2. 10% เงินสำหรับให้รางวัลชีวิตตนเอง เช่น ท่องเที่ยว ซื้อของที่อยากได้

 

โหลใบที่ 3. 10% เงินสำหรับการศึกษาและพัฒนาตนเอง เช่น ซื้อหนังสือ คอร์สเรียน

 

โหลใบที่ 4. 5% เงินสำหรับการให้ผู้อื่น เช่น การบริจาคให้มูลนิธิ การทำบุญ

 

โหลใบที่ 5. 10% เงินสำหรับเก็บสำรองระยะยาว เช่น ฝากเงินในบัญชีประจำ หรือซื้อประกันชีวิต

 

โหลใบที่ 6. 10% สำหรับสร้างอิสรภาพทางการเงินให้ตนเอง คือ การลงทุนที่สร้างรายได้สม่ำเสมอ ที่สามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าได้ในอนาคต

 

ทฤษฎีกระปุกทราย (Jar of Life) ที่จัดสรรเงินตามความสำคัญ โดยแบ่งเป็น

 

1. ก้อนหิน : เปรียบเสมือนสิ่งสำคัญของชีวิต ต้องแบ่งเงินมาทำก่อน เช่น เกษียณ สุขภาพ ค่าใช้จ่าย

 

2. กรวด : เปรียบเสมือนสิ่งสำคัญรองลงมา อาจไม่ได้จำเป็นที่สุดในชีวิต เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ

 

3. ทราย : เป้าหมายในฝัน ทำได้ก็ดีแต่หากไม่มีก็ได้ เช่น เที่ยวรอบโลก

 

การนำก้อนหิน ทราย และกรวดมาใส่โหลชีวิต ก็สามารถทำให้โหลเต็มได้ เพราะกรวดจะแทรกตามช่องว่างของก้อนหิน และทรายจะแทรกตามช่องว่างที่เหลือได้ ก็จะทำให้ชีวิตเราถูกเติมจนเต็ม และสามารถบริหารจัดการเงินได้อีกด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีทฤษฎีอื่น ๆ อีก แต่ละทฤษฎีก็มีสัดส่วนการออม การจัดสรรเงินที่แตกต่างกัน แต่รู้หรือไม่ว่า จริง ๆ แล้วเราควรออมเงินประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้แต่ละเดือน และยังสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมได้ ขึ้นอยู่กับรายได้และแผนทางการเงินที่วางไว้ เช่น หากมีรายได้น้อยและหนี้สินเยอะ ก็อาจลดการออมลงเพื่อนำเงินไปผ่อนชำระหนี้ให้หมดก่อน แล้วค่อยออมเพิ่มขึ้นได้ โดยวัตถุประสงค์การออมหลักสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 วัตถุประสงค์หลัก ได้แก่

 

1. เงินออมเผื่อฉุกเฉิน : เงินที่เก็บไว้ใช้จ่ายในกรณีเจ็บป่วย หรือมีเหตุต้องใช้เงินเร่งด่วน

 

2. เงินออมเพื่อเกษียณ : การออมในระยะยาว เพื่อเก็บไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การดูแลสุขภาพ การทำกิจกรรมต่าง ๆ เมื่อเกษียณแล้ว

 

3. เงินออมเพื่อการลงทุน : การออมเพื่อเงินงอกเงยเพิ่มมากขึ้น เช่น การฝากธนาคารเพื่อให้ได้ดอกเบี้ย การซื้อทองคำ ที่ดิน หุ้น หรือหลักทรัพย์อื่น ๆ

 

4. การออมเพื่อเติมฝัน : การออมเงินในระยะ 1-5 ปี เพื่อนำเงินนั้นไปใช้จ่ายในสิ่งที่ต้องการ เช่น ซื้อของที่อยากได้ ท่องเที่ยว ดูคอนเสิร์ต หรือบริจาคเพื่อสังคม

 

ทั้งนี้สามารถจัดสรรการออมตามความสามารถและความเหมาะสมของแต่ละท่านได้ โดยหากต้องการศึกษาเรื่องการออมเพิ่มเติม สามารถอ่านได้ที่ https://www.bot.or.th/th/satang-story/money-plan/saving.html

saving

จะเห็นได้ว่า “สมรสเท่าเทียม” ทำให้หลายคนมีความสุขกับการได้ใช้ชีวิตคู่อย่างถูกกฎหมาย และได้รับสิทธิต่าง ๆ เหมือนกับคู่รักชายหญิง แต่ก็อาจมาพร้อมกับภาระทางการเงินอื่น ๆ ที่จะตามมา และอย่าลืมที่จะวางแผนการเงินและทำแผนการใช้เงิน เพราะจะทำให้ทุกท่านได้เห็นการใช้เงินในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ แต่ละเดือน และสร้างความมั่นคงร่วมกันด้วยความเข้าใจ สำหรับคู่ไหนที่รายรับยังน้อยกว่าหรือเท่ากับรายจ่ายก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายเพื่อสร้างชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น และสำหรับคู่ที่มีรายรับมากกว่ารายจ่ายแล้วก็จะได้ประเมินศักยภาพของตนเองก่อนที่จะตัดสินใจอุปการะบุตร หรือซื้อสินทรัพย์ เช่น บ้าน คอนโด รถยนต์ ร่วมกัน ทั้งนี้สามารถอ่านบทความ “80 ข้อที่ควรมี ถ้าอยาก Happy เรื่องเงิน” ได้ที่ https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-64-6/Financial-Wisdom-64-6.html และอย่าลืมออมเงินเพื่อที่จะได้มีชีวิตทางการเงินที่ไม่สะดุดและมีความสุขมากขึ้น 

รู้หรือไม่

 

ธปท. สนับสนุน “สมรสเท่าเทียม” โดยพนักงาน ธปท. ที่มีคู่สมรสเพศเดียวกันมีสิทธิได้รับสวัสดิการ สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่นเดียวกับคู่สมรสชายหญิง  

marriage equality

Tag ที่เกี่ยวข้อง

BOT Magazine Financial Wisdom วางแผนทางการเงิน ความรู้ทางการเงิน