การปรับโครงสร้างหนี้
ทำให้เสียประวัติและจะเข้าถึงสินเชื่อได้ยากขึ้นในอนาคตจริงหรือไม่?
เมื่อลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ไหว การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ถือเป็นทางออกที่ดีในการแก้ไขปัญหา โดยประวัติการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ไม่ได้ทำให้เสียเครดิตไปตลอดกาล ขณะเดียวกันยังแสดงให้เห็นว่าลูกหนี้มีความรับผิดชอบต่อภาระหนี้ ทำให้เจ้าหนี้รู้จักลูกหนี้ได้ดีขึ้น
เมื่อลูกหนี้เริ่มมีปัญหาการชำระหนี้ ลูกหนี้สามารถเลือกติดต่อเจ้าหนี้เพื่อเจรจาขอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยรหัสสถานะบัญชีลูกหนี้ยังเป็นปกติ (รหัสสถานะบัญชีเป็น 10) แต่จะเพิ่มวันที่ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้และประเภทสัญญา ซึ่งแม้สถานะบัญชีจะดูมีความเสี่ยงมากกว่าลูกหนี้ปกติ แต่ย่อมดีกว่าการปล่อยให้หนี้กลายเป็นหนี้เสีย (รหัสสถานะบัญชีเป็น 20) อย่างไรก็ดี หากพลาดพลั้งปล่อยให้หนี้กลายเป็นหนี้เสียแล้ว ลูกหนี้ก็ยังมีโอกาสในการขอปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งเมื่อเริ่มจ่ายได้ตามสัญญาจะปรับรหัสสถานะบัญชีกลับไปเป็นปกติดังเดิม
ยิ่งไปกว่านั้น หากลูกหนี้ยังปล่อยให้เป็นหนี้เสียจนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องทางกฎหมาย (รหัสสถานะบัญชีเป็น 30) โดยไม่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จะส่งผลเสียต่อประวัติเครดิตบูโรอย่างมาก
ดังนั้น การปรับโครงสร้างหนี้จึงเป็นการสะท้อนความตั้งใจของลูกหนี้ที่จะกลับมาชำระหนี้ตามที่ตกลงกันใหม่ และมีโอกาสที่เจ้าหนี้จะพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในอนาคตมากกว่าการปล่อยให้หนี้กลายเป็นหนี้เสียหรือเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย
สํานักงานภาคเหนือ ธปท. ร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุุตสาหกรรมขนาดย่อม หอการค้าจังหวัดพะเยา และคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) จัดอบรมโครงการ “คลินิกเสริมแกร่งการเงิน SMEs” เพื่อยกศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs ในการขอสินเชื่อ