การเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน

แหล่งรวมข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือนอาทิ นโยบายที่ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน พัฒนาการของครัวเรือนในการเข้าถึงบริการทางการเงิน สถิติต่างๆ

 

นิยาม

การเข้าถึงบริการทางการเงิน หมายถึง การที่ครัวเรือนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างเท่าเทียม ได้รับบริการทางการเงินที่เหมาะสม ตอบสนองความต้องการอย่างเพียงพอ และมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายทางการเงินของแต่ละบุคคลหรือมีสุขภาพทางการเงินที่ดี ทั้งนี้ ธปท. ให้ความสำคัญกับการเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐาน ได้แก่ เงินฝาก สินเชื่อ โอนเงินและชำระเงิน โดยส่งเสริมผ่านการให้บริการจากสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับของ ธปท. และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ  อันจะนำไปสู่การเข้าถึงบริการทางการเงินที่ยั่งยืน

ที่มาและความสำคัญ

  

  • ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2540  ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบบสถาบันการเงินต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม ระบบสถาบันการเงินของไทย ยังเน้นการให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มที่มีพัฒนาการทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก และยังไม่ให้ความสำคัญในการให้บริการทางการเงินแก่กลุ่มที่ยังด้อยโอกาสเท่าใดนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนในต่างจังหวัด รวมถึงธุรกิจขนาดย่อย (Micro Enterprises) ยังไม่ได้รับบริการทางการเงินอย่างทั่วถึงและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ยังคงต้องการได้รับบริการทางการเงินที่ดีขึ้น
  • นับตั้งแต่ปี 2547-ปัจจุบัน ธปท. จึงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดให้การเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน และมีมาตรการต่างๆ ในการส่งเสริมเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงทั้งในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน  ด้านผู้ให้บริการทางการเงิน  การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน และการคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
  • การยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงิน ได้ถูกกำหนดเป็นหนึ่งในแผนงานในแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ (National Strategic Action Plan: NSAP) ด้านการเงินการคลัง ภายใต้แผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ค.ศ. 2025 (ASEAN Economic Community Blueprint 2025: AEC Blueprint 2025)  โดย ธปท. มีบทบาทในการผลักดันแผนงานที่เกี่ยวข้องและรายงานการดำเนินการต่ออาเซียนทุก 6 เดือน

 

แผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์ด้านการเงินการคลัง ภายใต้ AEC Blueprint 2025

กลยุทธ์แผนงานการดำเนินการหน่วยงานที่รับผิดชอบ
2.2 การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion)2.2.1 ขยายขอบเขตการเข้าถึงบริการทางการเงินทั้งในประเทศและที่เชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน1. ผลักดันให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น เพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่ Working Committee on Financial Inclusion (WC-FINC) กำหนดไว้ คือ ลดระดับค่าเฉลี่ยประชากร ASEAN ที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินจาก 44% ในปี 2558 เหลือ 30% ในปี 2568ธปท.
2. ผลักดันการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านช่องทางหรือผู้ให้บริการรายใหม่ เพื่อรองรับการทำธุรกรรมของกลุ่มแรงงานต่างชาติธปท.

3. สนับสนุนให้เกิด ระบบงานโครงสร้างพื้นฐาน (ระบบงานกลาง) ในการชำระราคาเงินค่าซื้อขายหลักทรัพย์ (e-Payment) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ลดภาระต้นทุน และ

ความเสี่ยงของ บล. รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการชำระเงินค่าซื้อขายหลักทรัพย์ และกำกับดูแลผู้ให้บริการ

ธปท.
2.2.2 ขยายขอบเขตการเข้าถึงบริการทางการเงิน เช่น การให้บริการชำระเงินทางอิเล็คทรอนิกส์ (e-payment) การพัฒนาบริการทางการเงินสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบริการอื่น ๆ ที่มีการนำเทคโนโลยีเป็นช่องทางให้บริการทางการเงิน (Financial Technology: Fintech)1. พัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างครบวงจร บูรณาการ และยั่งยืน สามารถรองรับธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้ดำเนินไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น รองรับและเอื้อต่อการเกิดขึ้นของนวัตกรรมทางการเงินใหม่ ๆ (Fintech) และเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจและของประเทศไทยในระดับนานาชาติ รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และสร้างความมั่นคงให้กับระบบบริหารจัดการการเงินการคลัง โดยพัฒนาระบบการรับ-จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดิน และบูรณาการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์อันจะนำไปสู่การเสริมสร้างศักยภาพของประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวสศค./กรมบัญชีกลาง
2. สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ FinTech มาให้บริการและสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) เรื่อง FinTechสำนักงาน ก.ล.ต.

3. สนับสนุนให้เกิด ระบบงานโครงสร้างพื้นฐาน (ระบบงานกลาง) ในการชำระราคาเงินค่าซื้อขายหลักทรัพย์ (e-Payment) เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก ลดภาระต้นทุน และ

ความเสี่ยงของ บล. รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพในระบบการชำระเงินค่าซื้อขายหลักทรัพย์ และกำกับดูแลผู้ให้บริการ

สำนักงาน ก.ล.ต.
2.2.3 การให้ความรู้ทางการเงินและกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการบริหารจัดการทางการเงิน

1. ดำเนินมาตรการตามแผนการให้ความรู้ทางการเงินขั้นพื้นฐาน

2. ดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชน พ.ศ. 2560 - 2564 โดยมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างรายได้และพัฒนาศักยภาพด้านการเงินของประชาชนระดับฐานราก กลยุทธ์ที่ 2 ลดภาระหนี้สินภาคครัวเรือนอย่างยั่งยืน ซึ่งการแก้ไขปัญหาหนี้สินจำเป็นต้องสร้างทักษะให้ประชาชนมีความสามารถบริหารจัดการทางการเงิน โดยการกำหนดมาตรฐานการให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชน รวมถึงการพัฒนาและกำหนดแนวทางการสร้างความรู้ความเข้าใจการเงินนอกระบบ 

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (Financial Infrastructure) ให้เหมาะสมต่อการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างยั่งยืน กลยุทธ์ที่ 1 พัฒนากฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงินของประชาชนซึ่งมีการพัฒนากฎหมายคุ้มรองผู้บริโภคทางการเงิน เพื่อให้เอื้อต่อการให้บริการทางการเงินในปัจจุบันและป้องกันความเสี่ยงจากภัยทางการเงินต่าง ๆ

สศค.
2.2.4 ส่งเสริมการเข้าถึงการประกันภัยและการขยายช่องทางการเข้าถึงการประกันภัย เพื่อให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงการประกันภัยมากยิ่งขึ้นและลดต้นทุนการใช้บริการ เช่น การใช้เทคโนโลยี และการประกันภัยสำหรับรายย่อย เป็นต้น

ดำเนินการตามแผนพัฒนาการประกันภัย ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2558 -2563) โดยมีการดำเนินการที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ที่ 2 เรื่องการเสริมสร้างความรู้และการเข้าถึงการประกันภัย โดยมีกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

1) การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัย 

2) การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สอดคล้องกับ ความต้องการและความเสี่ยง และ 

3) ขยายช่องทางการเข้าถึงการประกันภัยของประชาชน

สำนักงาน คปภ.

 

 

 

เป้าหมายและตัวชี้วัด

การเข้าถึงบริการทางการเงิน ถือเป็นเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ทั่วโลกร่วมกันผลักดัน ซึ่งเป็นส่วนสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 7 จาก 17 เป้าหมายหลักทั้งหมด (UNCDF) ดังนี้

เป้าหมายที่ 1: ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่

เป้าหมายที่ 2: ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน

เป้าหมายที่ 3: สร้างหลักประกันการมีสุขภาวะที่ดี และส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคนในทุกช่วงวัย

เป้าหมายที่ 5: บรรลุความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มบทบาทของสตรีและเด็กหญิงทุกคน

เป้าหมายที่ 8: ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และ มีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน

เป้าหมายที่ 9: สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม ที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม

เป้าหมายที่ 10: ลดความไม่เสมอภาคภายในและระหว่างประเทศ

 

ทั้งนี้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้รวบรวมและจัดทำรายงานข้อมูลตัวชี้วัด SDGs ของไทยและเผยแพร่ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ SDG Move  และ  สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) รวบรวมตัวชี้วัดของไทยเพื่อรายงานต่ออาเซียน เพื่อติดตามประเมินผลความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืนในกลุ่มประเทศอาเซียนและเผยแพร่บน Data Portal ของอาเซียน  โดยมีการรายงานที่สอดคล้องเป็นแนวทางเดียวกันทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค

 

ตัวชี้วัดย่อยส่วนที่ ธปท. รายงานต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประกอบด้วย

 

ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ชื่อเป้าหมายชื่อเป้าหมายย่อยชื่อตัวชี้วัด
8. ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคุลม และยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน8.1 เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันทางการเงินภายในประเทศเพื่อส่งเสริมและขยายการเข้าถึงการธนาคาร การประกัน และบริการทางการเงินแก่ทุกคน8.10.1a จำนวน (ก) สาขาของธนาคารพาณิชย์ และ (ข) เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATMs) ต่อผู้ใหญ่ 100,000 คน
8.10.1b จำนวน (ก) สาขาของธนาคารพาณิชย์ และ (ข) เครื่องรับจ่ายเงินอัตโนมัติ (ATMs) ต่อผู้ใหญ่ 100,000 คน
8.10.2 สัดส่วนของผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป) ที่มีบัญชีกับธนาคาร หรือสถาบันการเงินอื่น ๆ หรือกับผู้ให้บริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

 

 

 

 

     ธปท. ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นผู้แทนประเทศไทยในคณะทำงาน Working Committee on Financial Inclusion (WC-FINC) ซึ่งจัดตั้งเมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2558 จากมติที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers and Central Bank Governors: AFMGM) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการเข้าถึงบริการทางการเงินสำหรับสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ ลดความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางรายได้ระหว่างประเทศสมาชิก และมีการกำหนดเป้าหมายปัจจุบันที่จะร่วมกันผลักดันให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 10 ปี (2558-2568) ดังนี้

 

(1) ลดระดับค่าเฉลี่ยประชากรที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน (financial exclusion level) จาก 44% ในปี 2558 เป็น 30% ภายในปี 2568

(2) เพิ่มความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (infrastructure readiness) จาก 70% ในปี 2558 เป็น 85% ภายในปี 2568

 

ความคืบหน้าการดำเนินงานตามเป้าหมายของ WC-FINC

  1. ระดับการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน เฉลี่ยของกลุ่มประเทศอาเซียนลดลงจาก 20.77% ในปี 2566 เป็น 19.43% ณ เดือน มิ.ย. 2567 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 30% ภายในปี 2568 แล้ว โดยระดับการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของไทยอยู่ที่ 2.70%
  2. ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน* เฉลี่ยโดยรวมของกลุ่มประเทศอาเซียนเพิ่มขึ้นจาก 86.57% ในปี 2566 เป็น 88.50% ณ เดือน มิ.ย. 2567 ซึ่งบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 85% ภายในปี 2568 แล้ว อย่างไรก็ตาม ความพร้อมด้านแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินของประเทศ ยังอยู่ในระดับต่ำที่ 60.0%

 

*ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน พิจารณาจากการมีปัจจัย 10 ด้าน ได้แก่ (1) แผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงินของประเทศหรือแผนปฏิบัติการด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน  (2) กฎหมายที่สนับสนุนการเข้าถึงบริการทางการเงิน  (3) หลักเกณฑ์และช่องทางสำหรับการเข้าถึงบริการทางการเงินในยุคดิจิทัล (4) หน่วยงานเฉพาะที่ส่งเสริมเป้าหมายด้านการเข้าถึงบริการทางการเงิน (5) ระบบรายงานข้อมูลประวัติเครดิตหรือเครดิตบูโรของประเทศ  (6) องค์กรค้ำประกันเครดิต (7) กลไกปรับโครงสร้างหนี้หรือช่องทางสำหรับแก้หนี้  (8) กรอบหลักการในการติดตามการเข้าถึงบริการทางการเงิน (9) กรอบหลักการหรือกฎเกณฑ์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ (10) บริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล

แนวนโยบายของ ธปท. ในปัจจุบัน

  

  • ระบบเศรษฐกิจการเงินในปัจจุบันกำลังเปลี่ยนผ่านสู่โลกดิจิทัล โดยมีพัฒนาการด้านเทคโนโลยีเป็นตัวเร่งที่สำคัญที่ยกระดับการให้บริการและลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงินของธุรกิจและประชาชนกลุ่มต่างๆได้อย่างไม่มีขอบเขต แต่หากมีผู้ประกอบธุรกิจหรือประชาชนบางส่วนไม่สามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีได้อย่างเท่าทันและทั่วถึงในระยะยาวอาจซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจ หนี้ครัวเรือนและความเหลื่อมล้ำในสังคมที่มีอยู่เดิมให้รุนแรงขึ้น   ธปท. จึงได้จัดทำ consultation paper เพื่อสื่อสารหลักการ ทิศทางสำคัญและแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินของไทย 
  • ทิศทางสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือน ประกอบด้วย

1. ทิศทางด้านดิจิทัล  เพื่อให้ภาคการเงินใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม

2. ทิศทางด้านความยั่งยืน  เพื่อให้ภาคครัวเรือนสามารถเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างทันการณ์และยั่งยืน

 

anchor2

1. สร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล (Digital)


เปิดโอกาสให้ภาคการเงินสามารถใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ภายใต้หลักการ Open Competition, Open Infrastructure และ Open Data

1.1 เปิดกว้างในการแข่งขันให้ผู้เล่นทั้งรายเดิมและรายใหม่ (Open Competition)

เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทั้งรายใหม่และรายเดิมขอจัดตั้งธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา (Virtual Bank) เพื่อให้แข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการและช่วยให้ SMEs และรายย่อยเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบอย่างเหมาะสม

ให้สถาบันการเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการประกอบธุรกิจ เพื่อให้สามารถแข่งขัน พัฒนานวัตกรรม และตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทางการเงินได้ดีขึ้น 

เช่น ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจ FinTech ที่ไม่รวมสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ (กลุ่มธุรกิจฯ) จากเดิมกำหนดเพดานไว้ที่ไม่เกินร้อยละ 3 ของเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งเพิ่มความยืดหยุ่นในรูปแบบโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ เพื่อสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมในภาคการเงิน โดยไม่กระทบผู้ฝากเงินและมีการคุ้มครองผู้บริโภคอย่างเหมาะสม

ขยายบทบาทของ Non-Bank FIs

ขยายให้ non-bank FIs ทำธุรกิจได้หลากหลายขึ้น เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อให้แข่งขันได้เต็มที่ ภายใต้การกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยงและเท่าเทียมกับผู้เล่นอื่น เพื่อช่วยปิดช่องว่าง (gap) ในระบบการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและพัฒนาบริการด้านนั้น ๆ ให้ดีขึ้น​ โดยเฉพาะการขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจของผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ประกอบธุรกิจประเภทเดียว (monoline non-bank FIs) เช่น

- ให้ผู้ประกอบธุรกิจเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) สามารถประกอบกิจการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา (escrow agent) และให้บริการพิสูจน์และยืนยันตัวตน (Identity Provider: IdP) ในกระบวนการรู้จักลูกค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic-Know Your Customer: e-KYC)

- ให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนเงินระหว่างประเทศ (Money Transfer: MT) และผู้ประกอบธุรกิจซื้อขายและแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Money Changer: MC) สามารถ (1) ให้บริการลูกค้าได้ครอบคลุมวัตถุประสงค์ที่กว้างขึ้นและมีวงเงินทำธุรกรรมสูงสุดเพิ่มขึ้น (2) ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์และนำเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการให้บริการ และ (3) มีแผนที่จะปรับปรุงขอบเขตใบอนุญาตให้ผู้ประกอบธุรกิจ non-bank MT/MC ให้บริการได้ครอบคลุมหลายธุรกรรมมากขึ้น และรองรับรูปแบบการให้บริการใหม่ ๆ เพื่อให้บริการลูกค้ารายย่อยและ SMEs ได้ดียิ่งขึ้น

สนับสนุนให้ SFIs ทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้ SFIs ปิด gap ที่กลไกตลาดหรือโครงสร้างพื้นฐานอื่นไม่สามารถทำหน้าที่ได้สมบูรณ์ โดยไม่เข้าไปแข่งขันโดยตรงกับผู้ให้บริการทางการเงินและ SFIs อื่น และส่งเสริมให้ SFIs พัฒนาบุคลากรและใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกันระหว่าง SFIs เพื่อให้ SFIs ทำหน้าที่ปิด gap ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสร้างภาระทางการคลังน้อยที่สุด

ธปท. เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการทางการเงินทั้งรายใหม่และรายเดิมที่สนใจประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในรูปแบบอื่นนอกจาก Virtual Bank หรือประกอบธุรกิจทางการเงินอื่นภายใต้การกำกับของ ธปท. หารือมายัง ธปท. ได้เป็นรายกรณี

1.2 เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการกลุ่มต่าง ๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรม (Open Infrastructure)

ผลักดันให้มีการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินที่มีในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเชื่อมต่อได้ และเปิดกว้างให้ผู้ให้บริการที่หลากหลายสามารถเข้าถึงและแข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนและธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

ยกระดับธรรมาภิบาลของโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงิน ให้เปิดกว้างต่อการใช้ประโยชน์และพัฒนานวัตกรรม โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

กำหนดภูมิทัศน์และยกระดับโครงสร้างธรรมาภิบาลของโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินที่มีในประเทศเพื่อให้เปิดกว้างต่อการใช้ประโยชน์และพัฒนานวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยจะพิจารณาแนวทางต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับบริบทของไทย เช่น

- การจัดตั้ง Payment Council เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ให้บริการที่เป็นธนาคารพาณิชย์และ non-bank FIs ผู้ใช้บริการ ผู้กำกับดูแล และผู้เชี่ยวชาญมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายด้านการพัฒนาการชำระเงินและเสนอต่อคณะกรรมการระบบการชำระเงิน (กรช.) ซึ่งทำหน้าที่กำหนดนโยบายด้านการชำระเงินของประเทศ รวมทั้งนำนโยบายที่ได้จาก กรช. มาผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยการมี Payment Council เป็นไปตามแนวทางในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และสิงคโปร์

- การจัดตั้งหน่วยงานบริหารจัดการการพัฒนาบริการชำระเงินของประเทศ (Payment Scheme) เพื่อบริหาร Scheme Rule ที่เกี่ยวข้องกับระบบและบริการชำระเงิน เช่น ข้อตกลงการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาระบบ การกำหนดโครงสร้างค่าธรรมเนียม การส่งเสริมการใช้ digital payment และการต่อยอดนวัตกรรม

ทบทวนโครงสร้างราคาบริการชำระเงิน และเร่งลดการใช้เงินสดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลดการใช้เช็คกระดาษให้เหลือไม่ถึงร้อยละ 50 ของปริมาณการใช้ในปัจจุบันภายใน 5 ปี เพื่อสนับสนุนการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

พิจารณาทบทวนโครงสร้างราคาบริการชำระเงินโดยเฉพาะเงินสดและเช็ค ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง มีความเหมาะสม และเป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ และผู้ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่ง ธปท. จะหารือและสรุปโครงสร้างค่าธรรมเนียมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในปี 2565 และกำหนดแผนการปรับค่าธรรมเนียมโดยเฉพาะการใช้เงินสดและเช็คต่อไป รวมทั้งกำหนดนโยบายเพื่อลดการใช้เงินสดด้วยอัตราเร่งเป็น 2 เท่าภายใน 3 ปี และลดการใช้เช็คกระดาษให้เหลือไม่ถึงร้อยละ 50 ของปริมาณการใช้ในปัจจุบันภายใน 5 ปี หลังพัฒนาให้ digital payment มีคุณลักษณะที่ตอบโจทย์ และผลักดันให้ภาคธุรกิจและประชาชนหันมาใช้ digital payment อย่างแพร่หลาย เพื่อเร่งให้ไทยเข้าสู่ less-cash society

ทั้งนี้ ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ less-cash society จำเป็นต้องจัดให้มีช่องทางการให้บริการชำระเงินด้วยเงินสดที่เหมาะสมสำหรับผู้ใช้บริการกลุ่มที่ยังไม่พร้อมใช้ digital payment เช่น การให้บริการผ่าน white label smart machine และการให้ตัวแทนของธนาคารพาณิชย์ (banking agent) ช่วยกระจายเงินสดแก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการเงินสดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และสอดคล้องกับแนวโน้มลดการใช้เงินสด

พัฒนากระบวนการดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจแบบ end-to-end 

​พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับธุรกรรมการค้าและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ (PromptBiz) ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับการทำธุรกิจให้เป็นดิจิทัลแบบครบวงจร (end-to-end) เชื่อมโยงข้อมูลทางธุรกิจ การชำระเงิน และภาษีเป็นกระบวนการอัตโนมัติ (straight-through processing) ช่วยลดต้นทุนและปรับกระบวนการทางธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงเป็นการสร้าง digital footprint ที่ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และพัฒนาระบบการโอนเงินมูลค่าสูงให้รองรับการชำระเงินของภาคธุรกิจที่มีมูลค่าสูงและการทำธุรกรรมตลาดทุน

พัฒนาสกุลเงินดิจิทัลในระดับประชาชน

​พัฒนาและทดสอบการออกสกุลเงินดิจิทัลในระดับประชาชน (Retail CBDC) ที่เปรียบเสมือนเงินสดในรูปแบบดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการสามารถต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในรูปแบบใหม่ รองรับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต และเพื่อเป็นสกุลเงินดิจิทัลทางเลือกสำหรับประชาชนที่มีความปลอดภัย ประสิทธิภาพสูง และต้นทุนต่ำ โดยได้ทยอยเริ่มทดสอบการใช้งานในวงจำกัด (pilot test) ในครึ่งแรกของปี 2566

พัฒนามาตรฐานกลางและการเชื่อมโยง

​ผลักดันโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่จำเป็นและพัฒนามาตรฐานกลางและการเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานกลางที่สำคัญร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่

1. โครงสร้างพื้นฐานเพื่อพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล (digital ID) ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่าง platform (interoperability) ทำให้ผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงและพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าจากแหล่งที่น่าเชื่อถือด้วยต้นทุนที่เหมาะสม และลูกค้าสามารถยืนยันตัวตนเพื่อใช้บริการทางการเงินได้สะดวกและปลอดภัย รวมถึงการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลสำหรับนิติบุคคล (corporate digital ID) ผ่านโครงสร้างพื้นฐาน National Digital ID (NDID) โดยผลักดันร่วมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและสำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)

2. การใช้ลายมือชื่อดิจิทัล (digital signature) ที่มีต้นทุนต่ำ ใช้งานง่าย รองรับได้หลายผลิตภัณฑ์ เช่น ให้บริการในรูปแบบ platform สำเร็จรูป และสัญญาดิจิทัล (digital contract) ในเอกสารสัญญาทางการเงิน เช่น การให้สินเชื่อดิจิทัล (digital lending) และการปรับโครงสร้างหนี้ดิจิทัล (digital debt-restructuring)

ส่งเสริมความรู้และทักษะทางการเงินดิจิทัล

​ส่งเสริมความรู้และทักษะทางการเงินดิจิทัล (digital literacy) และสนับสนุนให้ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนในวงกว้างใช้บริการชำระเงินดิจิทัลเป็นทางเลือกหลักแทนการใช้เงินสดและเช็ค โดยผลักดันให้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการเงิน เช่น “คณะทำงานส่งเสริมความรู้และการใช้ digital payment” เพื่อบูรณาการการเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการส่งเสริมการใช้ digital payment ของประเทศให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้การสื่อสารและการผลักดันเรื่องนี้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความต่อเนื่อง และเกิดผลเป็นรูปธรรม

พัฒนากลไกการค้ำประกันเครดิตให้สามารถช่วยสนับสนุนความต้องการเงินทุนที่หลากหลาย ร่วมกับภาครัฐ ด้วยการจัดตั้ง General Credit Guarantee Facility (GCGF) เพื่อช่วยให้ธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs ในแต่ละช่วงของวงจรธุรกิจและธุรกิจที่ได้รับผลกระทบในภาวะวิกฤตสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ดีขึ้น รวมถึงสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ (infrastructure finance) โดยให้ GCGF

1. สามารถค้ำประกันสินเชื่อทั้งที่ปล่อยโดยสถาบันการเงินและผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินได้

2. สามารถสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนรูปแบบอื่นนอกจากสินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการของ SMEs ในช่วงเริ่มต้น (start-up) SMEs ขนาดกลางที่พร้อมเข้าสู่ตลาดทุน และบริษัทขนาดใหญ่ เช่น การร่วมทุน การออกตราสารหนี้และตราสารทุน

3. สามารถสนับสนุนการลงทุนตามทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว รวมทั้งเสริมสร้างศักยภาพของกลไกค้ำประกันเครดิตโดยเฉพาะการประเมินความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้หรือโครงการที่ขอรับการค้ำประกัน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงและกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการค้ำประกันที่สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้หรือโครงการที่ขอรับการค้ำประกันได้อย่างเหมาะสม

1.3 เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Open Data)

ผลักดันให้มีแนวนโยบาย Open Banking ที่เอื้อให้เจ้าของข้อมูลสามารถส่งข้อมูลของตนให้แก่ผู้ให้บริการต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและมีต้นทุนที่เหมาะสม ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเลือกใช้หรือย้ายบริการ โดยสร้างกลไกให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิอนุญาตให้ผู้ให้บริการทางการเงินต่าง ๆ เปิดเผยและส่งข้อมูลของตนให้แก่ผู้ให้บริการบุคคลที่สาม (consent management) ร่วมกับสถาบันการเงิน และผลักดันให้มีมาตรฐาน API (application programming interface) และมาตรฐานข้อมูลกลาง รวมทั้งให้เกิดการเชื่อมต่อและรับส่งข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการด้วยมาตรฐานเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย รวดเร็ว โดยไม่มีการกำหนดเงื่อนไขที่ผูกมัดหรือกำหนดค่าธรรมเนียมที่สูงเกินควรจนเป็นการกีดกันเจ้าของข้อมูลในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตน ซึ่งได้เริ่มนำร่องการดำเนินการรับส่งข้อมูลบัญชีเงินฝาก (bank statement) ในรูปแบบดิจิทัลระหว่างผู้ให้บริการในภาคธนาคาร (Digital Statement: dStatement) ไปแล้วในเดือนมกราคม 2565 และมีแผนที่จะขยายการรับส่งข้อมูลกับผู้ให้บริการประเภทอื่น ๆ ในภาคการเงินและในภาคส่วนอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต เช่น ข้อมูลการจ่ายค่าเบี้ยประกัน ข้อมูลการจ่ายค่าสาธารณูปโภค เป็นต้น

สนับสนุนการเชื่อมต่อและนำฐานข้อมูลระดับจุลภาค (micro-level data) ที่ปัจจุบันถูกจัดเก็บอย่างกระจัดกระจายไปใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์และการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินได้อย่างเต็มศักยภาพมากขึ้น โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันกลไกหรือโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงพิจารณาแนวทางปรับปรุงกรอบกฎหมายที่ช่วยลดอุปสรรคหรือเอื้อให้เกิดการเชื่อมโยงฐานข้อมูล micro-level data จากหน่วยงานต่าง ๆ ให้เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีความครอบคลุมและหลากหลายทั้งข้อมูลทางการเงิน (financial data) และข้อมูลที่ไม่ใช่ทางการเงิน (non-financial data) ของผู้ใช้บริการ เช่น ข้อมูลพฤติกรรมการโอนเงินหรือชำระเงินด้วยช่องทางดิจิทัล เป็นต้น เพื่อให้สามารถนำข้อมูล micro-level data จากหลากหลายแหล่งไปวิเคราะห์เชิงสถิติได้อย่างลึกซึ้งและแม่นยำในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งเพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายของภาครัฐและในการพัฒนานวัตกรรมและส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม อาทิ วิเคราะห์สินเชื่อโดยอิงกับข้อมูลพฤติกรรมและศักยภาพของผู้กู้เป็นสำคัญ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้ ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนและ SMEs ที่มีประวัติทางการเงินไม่มากพอสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

ทั้งนี้ การดำเนินการเชื่อมต่อและนำฐานข้อมูลดังกล่าวไปใช้จะต้องอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลข้อมูลที่เหมาะสมและไม่ละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวของเจ้าของข้อมูล อาทิ การรวบรวมฐานข้อมูลในรูปแบบที่ไม่ระบุตัวตนเจ้าของข้อมูลเพื่อให้บุคคลที่สามนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์เชิงสถิติได้ เป็นต้น รวมทั้งมีกลไกหรือกระบวนการรักษาความปลอดภัยและความลับของข้อมูลเพื่อมิให้เกิดการรั่วไหล

2. สนับสนุนเศรษฐกิจให้เปลี่ยนผ่านได้อย่างยั่งยืน (Sustainable)



ธปท. ให้ความสำคัญกับกระแสการเติบโตอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของไทย จึงมุ่งเน้นสนับสนุนให้ภาคครัวเรือนหรือกลุ่มเปราะบางอยู่รอดและปรับตัวสู่โลกใหม่ได้อย่างยั่งยืน ดังนี้

ครัวเรือนปรับตัวได้

​ยกระดับการให้ความรู้และทักษะทางการเงินและการเงินดิจิทัล (financial/digital literacy) ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงิน และช่วยให้ประชาชนเท่าทันพัฒนาการของเทคโนโลยีและภัยทางการเงินรูปแบบใหม่

1. พัฒนาและปรับปรุงแหล่งข้อมูลความรู้ทางการเงินและการเงินดิจิทัลที่เข้าถึงได้ง่าย เท่าทันภัยทางการเงินรูปแบบใหม่และเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2. ให้ผู้ให้บริการทางการเงินมีบทบาทในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้บริการทางการเงินมีพฤติกรรมทางการเงินที่ดี เช่น จูงใจให้มีการออมเผื่อเกษียณ หรือชำระหนี้ก่อนหรือตามกำหนด

​ผลักดันการให้สินเชื่อแก่รายย่อยอย่างเหมาะสมกับความสามารถของลูกค้าเพื่อดูแลไม่ให้ลูกค้าก่อหนี้จนเกินตัว โดยกำกับดูแลให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยภายใต้การกำกับของ ธปท. พิจารณาให้สินเชื่อแก่รายย่อยโดยให้ความสำคัญกับการที่ลูกค้ามีเงินเหลือหลังหักชำระหนี้ทั้งหมดเพียงพอดำรงชีพและไม่ก่อหนี้จนเกินตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่เกินความจำเป็น เช่น ใช้สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) ในการพิจารณาสินเชื่อแก่ลูกค้าที่มีสถานะทางการเงินเปราะบางอย่างเคร่งครัดแม้จะสามารถหักเงินเดือนชำระหนี้ได้ก่อน เป็นต้น

ทั้งนี้ ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพิจารณาถึงความจำเป็นของการออกมาตรการดูแลเสถียรภาพระดับมหภาค (macroprudential) เพื่อช่วยชะลอการก่อหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคที่เกินความจำเป็นของภาคครัวเรือน หลังเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างเข้มแข็ง

ผลักดันกลไกการแก้หนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจรสำหรับครัวเรือนที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวให้สามารถปรับตัวและไปต่อได้ในระยะยาวโดยไม่กลับมามีหนี้สินล้นพ้นตัวอีก โดยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือนที่มีหนี้ล้นพ้นตัวกับผู้ให้บริการหรือหน่วยงานอื่นอย่างยั่งยืน เช่น หนี้สหกรณ์ หนี้ข้าราชการ และหนี้กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นต้น ซึ่งรวมถึง

- การออกแบบแผนการชำระคืนหนี้ที่สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ในระยะยาวโดยต้องมีเงินเหลือหลังหักชำระหนี้เพียงพอดำรงชีพ

- การปรับปรุงเกณฑ์หรือเงื่อนไขการให้กู้ยืมเพื่อช่วยลดภาระในการผ่อนหนี้และเป็นธรรมกับผู้กู้มากขึ้น เช่น การปรับลำดับการตัดชำระหนี้โดยตัดเงินต้นก่อน เป็นต้น

- การกำหนดเงื่อนไขที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้กู้จ่ายคืนหนี้อย่างต่อเนื่องและปิดหนี้ได้เร็วขึ้น เช่น ลดเงินต้นสำหรับผู้กู้ที่มีประวัติการชำระดี

​ผลักดันการจัดเก็บข้อมูลภาระหนี้ที่ครัวเรือนมีกับผู้ให้บริการหรือหน่วยงานต่าง ๆ อย่างครอบคลุม และนำไปใช้ในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่รายย่อยอย่างเหมาะสม เพื่อให้ครัวเรือนที่มีศักยภาพเข้าถึงสินเชื่อได้อย่างเหมาะสมกับความสามารถด้วยราคาที่เป็น risk-based pricing รวมทั้งนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้แก้ไขปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวและลดการก่อหนี้เกินตัวของครัวเรือน

- ในระยะสั้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันให้ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (non-bank retail lending) และสหกรณ์ออมทรัพย์รายสำคัญเข้าเป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (NCB)

- ในระยะปานกลางถึงยาว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการเชื่อมต่อฐานข้อมูลจากหน่วยงานต่าง ๆ เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งผู้ให้บริการสามารถนำไปใช้พัฒนาและนำเสนอบริการทางการเงินที่เหมาะสมกับความต้องการและความสามารถของผู้ใช้บริการได้ดีขึ้น รวมถึงสามารถนำข้อมูลไปพัฒนาต่อยอดเป็นคะแนนทางการเงินของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างพฤติกรรมทางการเงินและวัฒนธรรมด้านสินเชื่อ (credit culture) ที่ดีในระบบการเงิน

การติดตามและประเมินผล

 

     ธปท.  ติดตามพัฒนาการของครัวเรือนในการเข้าถึงบริการทางการเงินเพื่อทำความเข้าใจครัวเรือนแต่ละกลุ่ม ประเมินผลนโยบายและพัฒนานโยบายที่ตอบโจทย์ครัวเรือนมากขึ้นโดยยึดหลัก data-driven policy ซึ่งให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลจากแหล่งต่างๆมาประกอบการตัดสินใจ

รายงาน ธปท. ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงิน

สถิติ ธปท. ที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงบริการทางการเงิน